คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1054/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมีไว้ในครอบครองซึ่งขาเลียงผา ซึ่งเป็นซากสัตว์ป่าสงวนตามฟ้อง ข้อ ก. เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2503 มาตรา 14 และมาตรา 38 ส่วนการมีไว้ในครอบครองและค้าซึ่งซากสัตว์อื่นซึ่งเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามฟ้องข้อ ง.เป็นความผิดตาม มาตรา 16 และ มาตรา 40 แยกไว้คนละมาตราเป็นคนละฐานความผิดแสดงว่าเป็นเจตนารมณ์ ของกฎหมายที่ต้องการแยกเป็นคนละความผิดต่างกระทงกัน การกระทำความผิดดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ส่วนการค้าลิ่นซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามฟ้อง ข้อ ข.กับการมีไว้ในครอบครองและค้าซึ่งงูเหลือม ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามฟ้อง ข้อ ค.เป็นความผิดตาม มาตรา 15 และมาตรา 40 บทมาตราเดียวกันแสดงว่ากฎหมายต้องการให้เป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน เป็นวัตถุประเภทเดียวกัน ทั้งจำเลยกระทำผิดดังกล่าวในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ตามกฎหมายอาญามาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2534 เวลากลางวันจำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ก.จำเลยได้มีไว้ในครอบครองซึ่งขาเลียงผา จำนวน 15 ขา อันเป็นซากของเลียงผาซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนตามบัญชีสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 8ท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ทั้งนี้โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้ตามกฎหมาย ข.จำเลยได้ค้าลิ่นซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงจำนวน 1 ตัว ทั้งนี้โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ค.จำเลยได้มีไว้ในครอบครองและค้าซึ่งงูเหลือมซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงจำนวน 42 ตัวทั้งนี้โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายและ ง.จำเลยได้มีไว้ในครอบครองและค้าซึ่งซากกลิ่นสดแช่แข็งจำนวน37 ตัว หนังลิ่นสด จำนวน 26 ตัว หนังลิ่นหมักเกลือจำนวน 41 ผืนหนังลิ่นหมักเลือด จำนวน 289 ผืน กระดองเต่าจักร 5 ชิ้นกระดองเต่าหก 1 ชิ้น และกระดองเต่าเหลือง 5 ชิ้น ซึ่งเป็นซากของสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวและหนังงูเหลือมจำนวน 144 ผืน หนังงูเหลือมสด จำนวน 3 ตัว ดีงูเหลือมจำนวน 28 อัน และหนังงูหลามปากเป็ด จำนวน 2 ผืน ซึ่งเป็นซากของสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง ทั้งนี้โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 3, 4, 6, 14,15, 16, 38, 40, 47 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18ตุลาคม พ.ศ. 2515 ข้อ 1, 5, 6, 7, 11, 13, 19 กฎกระทรวงฉบับที่ 14(พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2503 ข้อ 2, 3, 4 กฎกระทรวงฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ข้อ 1, 2, 3, 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 3, 4, 6, 14, 15, 16,38, 40, 47 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 ตุลาคมพ.ศ. 2515 ข้อ 1, 5, 6, 7, 11, 13, 19 กฎกระทรวงฉบับที่ 14(พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2503 ข้อ 2, 3, 4 กฎกระทรวงฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2528)ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503ข้อ 1, 2, 3, 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ฐานมีซากสัตว์ป่าสงวนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี ฐานค้าสัตว์ป่าคุ้มครองจำคุก 6 เดือน ฐานมีไว้ในครอบครองและค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองจำคุก 6 เดือน ฐานมีไว้ในครอบครองและค้าซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 30 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 เดือนริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า ความผิดฐานมีซากสัตว์ป่าสงวนไว้ในครอบครอง ตามฟ้องข้อ ก. กับฐานมีไว้ในครอบครองและค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามฟ้องข้อ ง. เป็นความผิดกระทงเดียวกัน และความผิดฐานค้าสัตว์ป่าคุ้มครองตามฟ้อง ข้อ ข.กับฐานมีไว้ในครอบครองและค้าสัตว์ป่าคุ้มครองตามฟ้อง ข้อ ค.ก็เป็นความผิดกระทงเดียวกัน ต้องลงโทษบทหนักในแต่ละกระทงเพียง2 กระทง เห็นว่า การมีไว้ในครอบครองซึ่งขาเลียงผา ซึ่งเป็นซากสัตว์ป่าสงวนตามฟ้อง ข้อ ก. เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 14 และมาตรา 38ส่วนการมีไว้ในครอบครองและค้าซึ่งซากสัตว์อื่นซึ่งเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครองตามฟ้องข้อ ง.เป็นความผิดตาม มาตรา 16 และมาตรา 40แยกไว้คนละมาตราเป็นคนละฐานความผิดแสดงว่าเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการแยกเป็นคนละความผิดต่างกระทงกัน การกระทำความผิดดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามฟ้องข้อ ก.และ ข้อ ง. เป็น 2 กระทงจึงชอบแล้ว ส่วนการค้าลิ่นซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามฟ้อง ข้อ ข. กับการมีไว้ในครอบครองและค้าซึ่งงูเหลือม ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามฟ้อง ข้อ ค. เป็นความผิดตาม มาตรา 15 และมาตรา 40 บทมาตราเดียวกันแสดงว่า กฎหมายต้องการให้เป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน เป็นวัตถุประเภทเดียวกันทั้งจำเลยกระทำผิดดังกล่าวในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ตามกฎหมายอาญา มาตรา 90
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง กับฐานมีไว้ในครอบครองและค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นความผิดกรรมเดียวให้จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน รวมเป็นจำคุก12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share