คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6828/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าจากบิดาโจทก์ และได้ครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ปี 2515 และเพิ่งมีเหตุพิพาทกับจำเลยในปี 2536เว้นไม่ได้ทำปี 2522 และโจทก์เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออก น.ส.3 ก. ทับที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ตาม น.ส.3 ก. ดังกล่าวยังคลุมถึงที่ดินของจำเลยด้วย และการเพิกถอน น.ส.3 ก. ต้องเพิกถอนทั้งฉบับ ซึ่งย่อมกระทบ ถึงสิทธิของจำเลยในส่วนที่ดินที่เป็นของจำเลย จึงไม่มีเหตุเพิกถอน น.ส.3 ก. ฉบับดังกล่าวได้ แต่เมื่อศาลฎีกา ฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และ น.ส.3 ก. ของจำเลย ออกทับที่ดินพิพาท จำเลยต้องแก้ไข น.ส.3 ก. ฉบับดังกล่าว ให้มีผลคลุมเฉพาะที่ดินของจำเลยเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินพิพาท ย่อมมีผลทำนองเดียวกับการแก้ไข น.ส.3 ก. ไม่ให้มีผลคลุมถึงที่ดินพิพาท คงให้มีผลคลุมถึงเฉพาะที่ดินส่วนของจำเลยเท่านั้น ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้จำเลยไปขอแก้ไขได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 35 เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่โดยได้รับการยกให้จากบิดาโจทก์ที่ 2 ตั้งแต่ปี 2515 และโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา เมื่อเดือนมิถุนายน 2536 จำเลยได้บุกรุกเข้าไปไถที่ดินของโจทก์ทั้งสองและให้โจทก์ทั้งสองออกจากที่ดิน โดยอ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลย และจำเลยได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง กับให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ โดยให้จำเลยไปขอเพิกถอนที่สำนักงานที่ดินกิ่งอำเภอพลับพลาชัยภายใน 7 วัน นับแต่วันพิพากษา หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 10,000 บาท นับแต่ปี 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินตามฟ้อง
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่า ที่ดินพิพาทภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.4 เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ 2 งาน 89 วา เป็นของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองที่นำสืบมาแล้วมีน้ำหนักฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนายลัดบิดาโจทก์ที่ 2 และที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา และเพิ่งมีเหตุพิพาทกับจำเลยในปี 2536 จำเลยเองก็เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า ในปี 2522 ฝนแล้ง โจทก์ทั้งสองได้ออกไปทำงานต่างจังหวัด ต่อมาปี 2523 โจทก์ทั้งสองก็กลับมาทำนาในที่ดินพิพาท ปี 2536 จำเลยเพิ่งไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองในข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาท แสดงว่าจำเลยยอมรับว่าตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2536 โจทก์ทั้งสองครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทซึ่งสอดคล้องกับพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2515 จนกระทั่งปี 2536 เว้นไม่ได้ทำปี 2522 ส่วนจำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้รับมาจากนายวังบิดาจำเลย พยานบุคคลที่จำเลยนำสืบโดยอ้างว่าต่างรู้เห็นว่าจำเลยได้รับที่ดินพิพาทจากบิดาจำเลยก็ล้วนแต่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยทั้งสิ้นจึงมีน้ำหนักน้อยประกอบกับจำเลยได้รับ น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.6ตั้งแต่ปี 2522 และจำเลยเบิกความรับว่า โจทก์ทั้งสองเข้าทำนาในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2523 แต่จำเลยเพิ่งร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองในปี 2536 จึงเป็นพิรุธ ส่วนหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่จำเลยอ้างว่าเป็นการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาท ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 นั้น แต่ตามหลักฐานดังกล่าวซึ่งเป็นแบบ ภ.บ.ท.5 และใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่แสดงถึงการเสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ 31 ถึง 38 ไร่เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาท ส่วนหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของโจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.2 จ.3 และ จ.5 ซึ่งนายทวีเบิกความยืนยันว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาท และเป็นคนเสียภาษีบำรุงท้องที่แก่นายทวีในช่วงที่นายทวีเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเนื้อที่ที่ระบุในแบบ ภ.บ.ท.5 เอกสารหมาย จ.3 และแบบแสดงรายการที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ก็มีประมาณ 10 ไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับที่ดินพิพาท จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาทพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการที่สองมีว่าโจทก์ทั้งสองเสียหายหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองปีละ 8,000 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปมีว่าจะเพิกถอน น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.6 ได้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยออก น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.6ทับที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าตาม น.ส.3 ก. ดังกล่าวยังคลุมถึงที่ดินของจำเลยด้วย การเพิกถอนน.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.6 ต้องเพิกถอนทั้งฉบับซึ่งย่อมกระทบถึงสิทธิของจำเลยในส่วนที่ดินที่เป็นของจำเลย จึงไม่มีเหตุเพิกถอน น.ส.3 ก.ตามเอกสารหมาย จ.6 เมื่อศาลฎีกาฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง และ น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.6 ออกทับที่ดินพิพาท จำเลยต้องแก้ไข น.ส.3 ก. ฉบับดังกล่าวให้มีผลคลุมเฉพาะที่ดินของจำเลยเท่านั้น การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.6 เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินพิพาทนั้น ย่อมมีผลทำนองเดียวกับการแก้ไข น.ส.3 ก. ไม่ให้มีผลคลุมถึงที่ดินพิพาท คงให้มีผลคลุมถึงเฉพาะที่ดินส่วนของจำเลยเท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยไปขอแก้ไขได้
พิพากษากลับเป็นว่า ที่ดินพิพาทภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.4 เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ ตั้งอยู่บ้านกัดลิ้น หมู่ที่ 5 ตำบลสำโรง กิ่งอำเภอพลับพลาชัยจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยไปขอแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 1402เล่ม 15 ก. หน้า 2 เลขที่ดิน 176 ตำบลแสลงโทน อำเภอประโคนชัยจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ให้มีผลเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทดังกล่าว หากไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองปีละ 8,000 บาท นับแต่ปี 2536เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก

Share