แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัท ต. กรมสรรพากร จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ออกคำสั่งอายัดเงินค่าจ้างก่อสร้างทางหลวงที่โจทก์พึงจะได้รับจากกรมทางหลวง โดยอ้างว่าโจทก์คือบริษัท ต.ซึ่งค้างชำระค่าภาษีอากรแก่จำเลยที่ 1 โดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดพลาดไปโดยไม่ตรวจสอบให้รอบคอบเสียก่อนออกคำสั่งอายัดเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย ไม่ได้รับเงินดังกล่าวจากกรมทางหลวง เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลณ ประเทศสาธารณรัฐจีนไต้หวัน เป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งอธิบดีกรมทะเบียนการค้าได้ออกใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจก่อสร้างทางหลวงให้แก่กรมทางหลวง จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ ให้อายัดเงินค่าจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข๑๑๒๔ เป็นเงินจำนวน ๓,๕๔๕,๒๒๐.๙๖ บาท ซึ่งเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากกรมทางหลวงโดยคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคำสั่งอายัดดังกล่าวระบุให้อายัดเงินของบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์ (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์ เป็นเหตุให้กรมทางหลวงไม่ชำระค่าจ้างงานแก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยที่ ๒เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๓,๕๔๕,๒๒๐.๙๒ บาท นับแต่จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งอายัดจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่เงินของโจทก์ที่มีสิทธิได้รับจากกรมทางหลวง เพราะเป็นของบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์ จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์ (ไทย) จำกัด มีสิทธิได้รับเงินจากกรมทางหลวง และบริษัทดังกล่าวนี้เป็นผู้ค้างชำระภาษีของกิจการร่วมค้า จำเลยทั้งสองจึงมีคำสั่งอายัดเงินดังกล่าวเพื่อชำระแก่จำเลยที่ ๑ ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ต่อปี ของเงินจำนวน ๓,๕๔๕,๒๒๐.๙๖ บาท แก่โจทก์ นับแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ ถึงวันที่๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าขึ้นศาลที่โจทก์เสียเกินมา ๘๘,๕๓๐ บาทให้คืนโจทก์ไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันและที่ศาลเดินเผชิญสืบฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ที่ประเทศสาธารณรัฐจีนไต้หวันเป็นนิติบุคคลต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๑ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของโจทก์ในประเทศไทยคือนายเฉา ชิง หัว ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เอกสารหมาย จ.๑ และเป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์ (ไทย) จำกัด ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.๓ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๒ ได้ออกคำสั่งอายัดเงินค่าจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๑๑๒๔ สายวังชิ้น – เถิน ตอน ๑ และตอน ๒ เป็นเงินจำนวน๓,๕๔๖,๒๒๐.๙๖ บาท ซึ่งกรมทางหลวงจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๒ โดยอ้างว่าโจทก์คือบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์ (ไทย) จำกัด เมื่อโจทก์ไปขอรับเงินจำนวนดังกล่าวจากกรมทางหลวง กรมทางหลวงไม่อาจจ่ายให้แก่โจทก์ได้ ต่อมาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้ว เมื่อวันที่๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้มีคำสั่งถอนการอายัดทรัพย์ดังกล่าว
ปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า การที่จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ได้อาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ มีคำสั่งให้อายัดเงินค่าก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๑๑๒๔ สายวังชิ้น – เถิน ตอน ๑ และตอน ๒ เป็นเงินจำนวน ๓,๕๔๕,๒๒๐.๙๖ บาทซึ่งกรมทางหลวงต้องจ่ายแก่โจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์และบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวสอร์คส์ (ไทย) จำกัด เป็นนิติบุคคลต่างหากจากกันและกรมทางหลวงก็ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบว่า โจทก์เป็นคู่สัญญากับกรมทางหลวงในการรับเหมาก่อสร้างทางหลวงสายวังชิ้น – เถิน ตอน ๑ ตอน ๒ ไม่ใช่บริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์(ไทย) จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.๔ และ จ.๕ นอกจากนี้ทนายความโจทก์ก็มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ ๒ ว่า โจทก์ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศนั้นเป็นคนละบริษัทกับบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์ (ไทย) จำกัด ขอให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์โดยด่วนจำเลยทั้งสองคงเพิกเฉย เพิ่งจะมีคำสั่งถอนคำสั่งอายัดเงินจำนวน ๓,๕๔๕,๒๒๐.๙๖ บาทที่กรมทางหลวงต้องจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐ ดังนี้การอายัดเงินของโจทก์จำนวนดังกล่าวที่โจทก์พึงจะได้รับจากกรมทางหลวงจึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดพลาดไปโดยไม่ตรวจสอบให้รอบคอบเสียก่อนออกคำสั่งอายัด แม้กรมทางหลวงซึ่งเป็นหน่วยราชการของรัฐเช่นกันจะทำหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบทันทีที่ได้รับคำสั่งอายัดตามเอกสารหมาย จ.๒ ว่าโจทก์เป็นคู่สัญญากับกรมทางหลวงและเป็นนิติบุคคลต่างหากกับบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์ (ไทย)จำกัด จำเลยที่ ๒ ก็ไม่ยอมถอนคำสั่งอายัดและไม่มีหนังสือแจ้งเหตุผลที่ยังคงต้องอายัดเงินค่าจ้างก่อสร้างของโจทก์เอาไว้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองได้สอบถามไปยังกรมทางหลวงแล้วได้รับการยืนยันจากกรมทางหลวงว่าบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์ (ไทย) จำกัด มีสิทธิได้รับเงินค่าก่อสร้างทางเพราะเป็นคู่สัญญากับกรมทางหลวง อีกทั้งบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์ (ไทย)จำกัด เดิมชื่อว่าบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์ จำกัด ปรากฏหลักฐานตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการตรวจสอบโดยรอบคอบแล้ว ยังถือไม่ได้ว่ากระทำโดยประมาทเลินเล่อแก่โจทก์นั้น ขัดกับเอกสารหมาย จ.๔ และ จ.๕ ที่วินิจฉัยมาข้างต้นทั้งเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๒ ก็ได้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินจำนวน ๓,๕๔๕,๒๒๐.๙๖ บาทที่กรมทางหลวงต้องจ่ายให้แก่โจทก์หาได้ดำเนินการกับโจทก์ต่อไปตามหลักฐานที่ได้กล่าวอ้างมาไม่พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยทั้งสองเพิ่งทราบว่าโจทก์กับบริษัทตังเอ็งไออ้อนเวอร์คส์ (ไทย) จำกัดเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกันภายหลังจากออกคำสั่งอายัดตามเอกสารหมาย จ.๒ แล้ว กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปด้วยความประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำต้องใช้สินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
พิพากษายืน.