แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เหตุเกิดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้องคดีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงยังมีสิทธิได้รับความคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าในวันเกิดเหตุคดีนี้ จึงมีอำนาจฟ้อง
สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 คือ คำว่า I – VISON ซึ่งเครื่องหมายการค้าของฝ่ายโจทก์มีรูปวงรีแบบเปิดอยู่เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติม และเครื่องหมายการค้าของฝ่ายจำเลยที่ 1 มีคำว่า by SAMART เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมเช่นกัน ดังนั้น หากเมื่อพิจารณาในส่วนอักษรโรมัน I และคำว่า VISION แล้ว รูปลักษณะเครื่องหมายทั้งสองมีถ้อยคำสาระสำคัญเหมือนกันและเสียงเรียกขานเป็นอย่างเดียวกัน บุคคลธรรมดาทั่วไปหากไม่ใช้ความสังเกตย่อมมีความเห็นไปได้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตัวอักษรโรมัน I และคำว่า VISION ต่างเป็นถ้อยคำสามัญ โจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันเอาไว้ใช้เพียงผู้เดียว และโจทก์ยังได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน I แล้ว เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ได้ดัดแปลงประดิษฐ์ตัวอักษร S ตรงกลางเครื่องหมาย และยังเพิ่มคำว่า by SAMART ด้านล่างของเครื่องหมาย เพื่อให้แตกต่างจากของโจทก์ และหากจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะแสวงหาประโยชน์ในการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับของโจทก์แล้วก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะอ้างอิงแสวงหาประโยชน์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นอกจากนี้การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จะอยู่ระหว่างอุทธรณ์แต่ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีข้อโต้เถียงเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือคำว่า ว่า I – VISION ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 โดนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 มีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2534 มาตรา 4, 109, 110, 114 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,90
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534มาตรา 110 (1) ลงโทษตามมาตรา 109 ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา83 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 100,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 กลับตัว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประเด็นแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เหตุเกิดขึ้นเมื่อระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 11 มกราคม 2550 อันเป็นวันฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำสั่งที่ 24/2551 โจทก์จึงยังได้รับความคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ในวันเกิดเหตุคดีนี้ เนื่องจากคำสั่งที่ 24/2551มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นต้นไป จนกว่าคำสั่งนั้นจะได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียในภายหลังและคำสั่งดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลังขึ้นไปถึงวันที่มีคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 คือ คำว่า I-VISON ซึ่งเครื่องหมายการค้าของฝ่ายโจทก์มีรูปวงรีแบบเปิดอยู่เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมและเครื่องหมายการค้าของฝ่ายจำเลยที่ 1 มีคำว่า by SAMART เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมเช่นกัน ดังนั้น หากพิจารณาในส่วนอักษรโรมัน I และคำว่า VISON แล้ว รูปลักษณะเครื่องหมายทั้งสองมีถ้อยคำสาระสำคัญเหมือนกันและเสียงเรียกขานเป็นอย่างเดียวกัน บุคคลธรรมดาทั่วไป หากไม่ใช้ความสังเกตย่อมมีความเห็นไปได้ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน อย่างไรก็ตามปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 กรรมการผู้มีอำนาจมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าเครื่องหมายการค้าอันไม่ได้จดทะเบียนของจำเลยที่ 1 มีบางส่วนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ดังได้วินิจฉัยมาแล้วก็ตาม แต่รูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า I-VISON นั้น ตัวอักษรโรมัน I และคำว่า VISON ต่างเป็นถ้อยคำสามัญโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะหวงกันเอาไว้ใช้เพียงผู้เดียว และโจทก์ยังได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน I แล้วปรากฏตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า การที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ประสงค์จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า I-VISON เช่นเดียวกับโจทก์ในภายหลัง จำเลยที่ 1 จะต้องทำให้เครื่องหมายการค้าของตนมีองค์ประกอบแตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อป้องกันมิให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ซึ่งได้พิจารณารูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในภาพโฆษณาสินค้าในนิตยสาร จำเลยที่ 1 ได้ดัดแปลงประดิษฐ์ตัวอักษร S ซึ่งอยู่ตรงกลางเครื่องหมายการค้าแล้ว และยังเพิ่มเติมคำว่า by SAMART อยู่ด้านหลังของเครื่องหมายอีก เพื่อให้แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นอกจากนี้แล้วจำเลยที่ 7 ยังเบิกความว่า เครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 ต้องการสื่อให้ลูกค้าทราบว่าเป็นสินค้าที่มาจากบริษัทสามารถคอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 2 เบิกความว่า บริษัทสามารถคอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ใช้เครื่องหมายการค้าI-Mobile by SAMART กับธุรกิจเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในธุรกิจมาประมาณ 6 ถึง 7 ปี แล้ว มีชื่อเสียงในตลาดอย่างสูง ในขณะนี้โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องหมายการค้า I-Mobile by SAMART มีส่วนแบ่งตลาดเป็นที่ 2 ของประเทศ นับได้ว่า เครื่องหมายการค้า I-Mobile by SAMART มีชื่อเสียงอยู่ในธุรกิจของตน เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้าโจทก์และธุรกิจของโจทก์ในนามบริษัทโกบอล ลิงค์ เทค จำกัด โจทก์นำสืบใบโฆษณาสินค้า ภาพถ่ายสินค้าและการออกร้านงานแสดงสินค้า ใบเสนอราคาสินค้าและรายชื่อลูกค้า ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากเอกสารดังกล่าวก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และธุรกิจของโจทก์ในนามบริษัทโกบอล ลิงค์ เทค จำกัด มีชื่อเสียงในธุรกิจของตนเพียงใด หากจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะอ้างอิงแสวงหาประโยชน์ในการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยที่ 1 จะต้องลงทุนใช้เงินเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ย่อมชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะอ้างอิงแสวงหาประโยชน์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแต่อย่างใด กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในถ้อยคำสามัญอักษรโรมัน I และคำว่า VISION ในการประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าใหม่ของตน โดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาใช้เครื่องหมายการค้า เพื่อบ่งชี้ให้สาธารณชนทราบว่า สินค้าที่มีเครื่องหมายดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทสามารถคอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) และเพื่อรักษาฐานลูกค้าของบริษัทสามารถคอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ไว้ นอกจากนี้การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งที่ 24/2551 ให้เพิกถอนเครื่องหมายของโจทก์ แม้จะอยู่ระหว่างอุทธรณ์ แต่ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีข้อโต้เถียงกันอยู่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือคำว่า I-VISION ดังนี้ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมา ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 กรรมการผู้มีอำนาจมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยทั้งเจ็ดไม่มีความผิดดังฟ้องโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์