แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อสินค้าที่ขนส่งเป็นของมีค่า และโจทก์ผู้ส่งได้บอกสภาพแห่งของว่าเป็นนาฬิกาและบอกราคาของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยผู้ขนส่งแล้ว จำเลยก็ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลสินค้าเป็นพิเศษในการขนส่ง เมื่อสินค้าสูญหาย จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าราคาสินค้าซึ่งเป็นราคาที่บอกแก่ตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616, 620 และโจทก์ไม่ได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยตามข้อความที่ปรากฏด้านหลังของใบรับขนทางอากาศ ข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 625 โจทก์จึงไม่จำต้องเลือกชำระค่าบริการเพิ่มแทนการยอมรับการจำกัดความรับผิดของจำเลย ทั้งการที่โจทก์ไม่เสียค่าบริการเพิ่มจะถือว่าโจทก์มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย และอาศัยเป็นพฤติการณ์ในการลดค่าเสียหายของโจทก์หาได้ไม่ จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าราคาสินค้าที่ขนส่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 251,200.25 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 240,052.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ไม่โต้แย้งและจำเลยไม่อุทธรณ์ว่าจำเลยทำสัญญารับขนสินค้านาฬิกาข้อมือของโจทก์ 15 เรือน ราคา 5,209 ยูโร คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 240,052.60 บาท โดยทางอากาศไปส่งให้ลูกค้าของโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วสินค้าทั้งหมดสูญหายในระหว่างขนส่งโดยโจทก์ผู้ส่งได้บอกราคาหรือสภาพแห่งของแก่จำเลยในขณะที่ส่งมอบของแล้ว และโจทก์ไม่ได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งให้จำเลยผู้ขนส่งยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดกรณีของสูญหาย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ในข้อนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า แม้จำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเท่าราคาสินค้าเพราะเป็นของมีค่า และโจทก์บอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในใบรับขนทางอากาศในขณะส่งมอบของแก่จำเลยแล้ว แต่การที่โจทก์ส่งของมีค่าโดยเลือกเสียค่าบริการแก่จำเลยในอัตราค่าส่งตามปกติเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้จำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นกว่ารับขนของธรรมดา โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลย พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของมีค่าจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการขนส่งเป็นพิเศษ และต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าราคาสินค้าคือ 240,052.60 บาท เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า สินค้าที่ขนส่งเป็นของมีค่า และโจทก์ผู้ส่งได้บอกสภาพแห่งของว่าเป็นนาฬิกาและบอกราคาของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยผู้ขนส่งแล้ว จำเลยก็ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลสินค้าเป็นพิเศษในการขนส่ง เมื่อสินค้าสูญหาย จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าราคาสินค้าซึ่งเป็นราคาที่บอกแก่ตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616, 620 ทั้งโจทก์ไม่ได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยตามข้อความที่ปรากฏด้านหลังของใบรับขนของทางอากาศ ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยซึ่งเป็นที่ยุติแล้ว ข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 625 โจทก์จึงไม่จำต้องเพิ่มส่วนความรับผิดของจำเลยโดยเลือกชำระค่าบริการเพิ่มแทนการยอมรับการจำกัดความรับผิด ทั้งการที่โจทก์ไม่เสียค่าบริการเพิ่มจะถือว่าโจทก์มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย และอาศัยเป็นพฤติการณ์ในการลดค่าเสียหายของโจทก์หาได้ไม่ จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าราคาสินค้าที่ขนส่งตามฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่จำเลยรับสินค้าไปจากโจทก์ คือวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันใด โจทก์คงมีแต่นายธเณศ พยานโจทก์ เบิกความว่า วันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 เป็นวันที่จำเลยมารับสินค้าพิพาทจากโจทก์ ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และเห็นว่า กรณีนี้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่สินค้าพิพาทสูญหายเป็นต้นไป ซึ่งปัญหาว่าสินค้าพิพาทสูญหายไปตั้งแต่เมื่อใดนั้น โจทก์มีนายธเณศ เป็นพยานเบิกความว่า วันที่ 5 มกราคม 2547 โจทก์ได้รับแจ้งจากลูกค้าของโจทก์ว่ายังไม่ได้รับสินค้าพิพาท โจทก์จึงให้จำเลยติดตามสินค้าพิพาท หากไม่สามารถติดตามได้ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่สามารถส่งมอบสินค้าพิพาทได้ โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นประการอื่น ข้อเท็จจริงจึงพอถือได้ว่าสินค้าพิพาทสูญหายไปเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 5 มกราคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 240,052.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ต้องไม่เกิน 11,147.65 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.