แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ปืนพกสั้นออโตเมติกขนาด .45 ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวจึงใช้ได้แต่เฉพาะอาวุธปืนกระบอกที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนั้นเท่านั้น จะนำไปใช้กับอาวุธปืนกระบอกอื่นไม่ได้ จำเลยจึงไม่อาจที่จะมีอาวุธปืนกระบอกอื่นและกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในความครอบครองได้ แม้ผู้อื่นจะลืมอาวุธปืนไว้ในรถของจำเลย จำเลยก็ควรจะครอบครองอาวุธปืนนั้นเพียงเพื่อไม่ให้หายเท่านั้น แต่จำเลยกลับพกอาวุธปืนดังกล่าวไว้กับตัวซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนนั้นเพื่อใช้มิได้มีไว้ในความครอบครองเพื่อไม่ให้หาย จำเลยจึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่จำเลยอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชานั้นไม่เป็นข้อยกเว้นให้จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายได้ แม้การปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธปืนดังที่จำเลยอ้างก็ตาม
จำเลยซึ่งเป็นตำรวจพกพาอาวุธปืนกระบอกที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีติดตัว เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และถูกจับกุมในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ.2490 มาตรา 8(ทวิ) วรรคสาม (1)
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยจ่าสิบตำรวจณรงค์ คงมาเป็นจำเลยที่ 1 สิบตำรวจเอกวิชาญ สุวรรณเจริญเป็นจำเลยที่ 2 พลตำรวจสุวุฒิ สมทรัพย์เป็นจำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 91, 371 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 คืนอาวุธปืนหมายเลขทะเบียนพง.1/742 และกระสุนปืนแก่เจ้าของของกลางนอกจากนี้ให้ริบ
จำเลยทั้งสามไม่ได้ให้การ แต่เบิกความปฏิเสธความผิดถือได้ว่าจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้องให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 ซึ่งแก้ไขแล้วจำคุกคนละ 1 ปีและลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ตามมาตรา 8 ทวิ 72 ทวิซึ่งแก้ไขแล้ว และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 แต่ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ.2490 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 และลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 8 ทวิ 72 ทวิซึ่งแก้ไขแล้วจำคุกคนละ 6 เดือนรวมโทษจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือนคืนของกลางในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 428/2527 แก่เจ้าของริบเครื่องกระสุนปืนของกลางคดีหมายเลขแดงที่ 429/2527 และริบของกลางคดีหมายเลขแดงที่ 430/2527
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฟ้องในข้อแรกว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่หรือไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ได้ความว่าจำเลยที่ 1มีอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .38 หมายเลขทะเบียนพง.1/742 ของนายบุญสิน โชติสุวรรณพร้อมกระสุนปืนจำนวน 6 นัดไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจค้นพบอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวที่ตัวจำเลย จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ปืนพกสั้นออโตเมติกขนาด .45 เห็นว่าใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนใช้ได้แต่เฉพาะอาวุธปืนกระบอกที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนั้นเท่านั้น จำเลยจะนำใบอนุญาตดังกล่าวไปใช้กับอาวุธปืนกระบอกอื่นไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางจำเลยจึงไม่อาจที่จะมีอาวุธปืนของกลางไว้ในความครอบครองได้ และกระสุนปืนขนาด .38ของกลางจำนวน 6 นัดนั้นก็เป็นกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนขนาด .45 ที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ จำเลยจึงไม่อาจที่จะมีกระสุนปืนของกลางไว้ในความครอบครองได้ ที่จำเลยอ้างว่านายบุญสินลืมปืนของกลางไว้ในรถของจำเลย จำเลยจึงนำอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปนั้น เห็นว่าถึงแม้นายบุญสินจะลืมอาวุธปืนของกลางไว้ในรถของจำเลยดังที่จำเลยกล่าวอ้างก็ตามจำเลยก็ควรจะครอบครองอาวุธปืนของกลางนั้นเพียงเพื่อไม่ให้หายเท่านั้น แต่ตามบันทึกการจับกุมปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพบจำเลยกำลังพกอาวุธปืนของกลางไว้ที่ตัว ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนของกลางเพื่อใช้มิได้มีไว้ในความครอบครองเพื่อไม่ให้หายคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ดังที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 นั้นพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าอาวุธปืนของกลางนั้นไม่ใช่อาวุธปืนของทางราชการตำรวจตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ ซึ่งแก้ไขแล้วแต่เป็นอาวุธปืนตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ ดังที่โจทก์ฟ้อง นอกจากนี้แล้วจำเลยยังได้มีกระสุนปืนขนาด .357และ .38 รวม 18 นัดไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่อีกด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นพบอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวที่ตัวจำเลย จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .38 เห็นว่าใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนใช้ได้แต่เฉพาะอาวุธปืนกระบอกที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น จำเลยจะนำใบอนุญาตดังกล่าวไปใช้กับอาวุธปืนของกลางซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของทางราชการไม่ได้ จำเลยจึงไม่อาจที่จะมีอาวุธปืนของกลางไว้ในความครอบครองได้ ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีกระสุนปืนขนาด .357 และ .38 รวม 18 นัดนั้นตามฟ้องไม่ปรากฏรายละเอียดว่าเป็นกระสุนปืนขนาด .357 และ .38 อย่างละกี่นัดในทางพิจารณาก็ไม่ได้ความว่ากระสุนปืนขนาดใดมีจำนวนเท่าใดจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนขนาด .38 กระสุนปืนของกลางที่เป็นกระสุนปืนขนาด .38 จึงเป็นกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ได้ การที่จำเลยมีกระสุนปืนของกลางขนาด .38 ไว้ในความครอบครองจึงไม่เป็นความผิดส่วนกระสุนปืนของกลางขนาด .357 เป็นกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ จำเลยจึงมีความผิดในฐานะมีกระสุนปืนของกลางขนาด .357 ไว้ในความครอบครอง ตามบันทึกการจับกุมปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพบจำเลยกำลังพกอาวุธปืนของกลาง คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนขนาด .357 ของกลางไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ดังที่โจทก์ฟ้อง
การกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 ได้มีอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .357 ซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในความครอบครองพร้อมทั้งกระสุนปืนขนาด .357 จำนวน 4 นัดขนาด .38 จำนวน 2 นัดปัญหาข้อนี้จำเลยอ้างว่าได้ขอยืมอาวุธปืนของกลางจากนายเอียดคนรู้จักเพื่อนำไปใช้ในการจับกุมคนร้ายนั้น เห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นผิดฐานครอบครองอาวุธปืนซึ่งจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ได้ ที่จำเลยอ้างว่าได้รับใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนนั้นก็ไม่ได้ทำให้จำเลยที่ 3 มีอาวุธปืนของกลางไว้ในความครอบครองได้
ที่จำเลยทั้งสามต่อสู้อย่างเดียวกันว่าได้รับคำสั่งจากผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงา ให้ไปคุ้มครองนายรุ่งฤทธิ์ในการให้ความคุ้มครองนั้นจำเป็นต้องมีอาวุธปืน จำเลยแต่ละคนจึงได้นำอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งของผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงานั้น ไม่เป็นข้อยกเว้นให้จำเลยทั้งสามมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายได้แม้การปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธปืนดังที่จำเลยทั้งสามต่อสู้คดีก็ตาม แต่จำเลยทั้งสามก็อาจจะมีและใช้อาวุธปืนโดยชอบด้วยกฎหมาย ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้โดยเบิกอาวุธปืนของทางราชการตำรวจตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือมิฉะนั้นก็นำอาวุธปืนของจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้น
ปัญหาข้อต่อไปที่ว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดฐานพกพาอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่าพันตำรวจเอกสุนทร ซ้ายขวัญผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงาได้สั่งให้จำเลยทั้งสามไปคุ้มกันและส่งนายรุ่งฤทธิ์จากจังหวัดพังงาไปจนถึงบ้านนายรุ่งฤทธิ์ที่บริเวณเขาปิหลาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำการตรวจค้นบ้านนายรุ่งฤทธิ์และพบจำเลยทั้งสามพกอาวุธปืนที่บ้านดังกล่าวในวันเดียวกับวันที่จำเลยทั้งสามได้รับคำสั่งจากผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงาดังกล่าวแล้ว จึงเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามพกพาอาวุธปืนเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและถูกจับกุมในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิวรรคสาม (1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องในความผิดฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนพ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิที่แก้ไขแล้วไม่ริบกระสุนปืนขนาด .38 ของกลางในสำนวนที่ 2 (คดีหมายเลขแดงที่ 429/2527 ของศาลชั้นต้น) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่เห็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดเพราะมีความประสงค์ที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และไม่ปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรให้รอการลงโทษไว้ 1 ปีเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสามกลับตัวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา56.