คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20038/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยได้แสดงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท ก. อันเป็นเท็จว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวแล้ว ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายขาดประโยชน์อันควรได้จากหุ้นเท่านั้น ทั้งที่ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (1) (2) มิได้บัญญัติว่าการแสดงเอกสารอันเป็นเท็จเช่นนี้เป็นความผิดแต่อย่างใด โดยโจทก์กลับไม่บรรยายฟ้องแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ที่ลงข้อความอันเป็นเท็จในบัญชีผู้ถือหุ้นหรือยินยอมให้มีการลงข้อความอันเป็นเท็จในบัญชีผู้ถือหุ้นดังกล่าว โดยจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ อันเป็นองค์ประกอบเกี่ยวกับการกระทำที่จะเป็นความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด แม้จะฟังว่าจำเลยแสดงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นเท็จตามฟ้อง การกระทำเช่นนั้นก็ไม่เป็นความผิดที่จะลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 91, 352, 353 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 ให้ประทับฟ้อง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 ซึ่งในเบื้องต้น เห็นว่า บทกฎหมายมาตรานี้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด กระทำหรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้
(1) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชี เอกสาร หรือหลักประกันของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือ
(2) ลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชี หรือเอกสารของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำการเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เห็นได้ว่า ลักษณะการกระทำอันเป็นความผิดดังกล่าวได้แก่ การกระทำหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการตามที่บัญญัติไว้ใน (1) หรือ (2) ที่เป็นการกระทำต่อบัญชี เอกสาร หรือหลักประกันของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท อันจะทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นถูกทำลาย สูญหาย ขาดไป หรือมีข้อมูลไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ ทั้งนี้โดยผู้กระทำได้กระทำการดังกล่าวโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นนั้นขาดประโยชน์อันควรได้ด้วย แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวนั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำหรือยินยอมให้กระทำการทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอนหรือปลอมบัญชี เอกสาร หรือหลักประกันตามมาตรา 42 (1) และในส่วนการกระทำหรือยินยอมให้กระทำตามมาตรา 42 (2) ที่ตามกฎหมายบทมาตรานี้ต้องกระทำต่อบัญชีหรือเอกสารโดยการลงข้อความอันเป็นเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารดังกล่าวโดยเจตนาเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ที่จะเป็นเหตุให้ต้องขาดประโยชน์นั้น โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยได้แสดงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทกรีน พฤกษา แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวแล้ว ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายขาดประโยชน์อันควรได้จากหุ้นเท่านั้น ทั้งที่บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติว่า การแสดงเอกสารอันเป็นเท็จเช่นนี้เป็นความผิดแต่อย่างใด โดยโจทก์กลับไม่บรรยายฟ้องแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ที่ลงข้อความเท็จในบัญชีผู้ถือหุ้นหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีผู้ถือหุ้นดังกล่าว โดยจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ อันเป็นองค์ประกอบเกี่ยวกับการกระทำที่จะเป็นความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ดังนี้ แม้หากจะฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำการแสดงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นเท็จตามฟ้อง การกระทำเช่นนั้นก็ไม่เป็นความผิดที่จะลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 แต่อย่างใด ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป เพราะถึงวินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share