คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1996/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนผู้เสียหายฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ในข้อหาบุกรุกความผิดต่อเสรีภาพ และ ทำให้เสียทรัพย์ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง ต่อมาพนักงานอัยการได้นำการกระทำอันเดียวกันกับคดีก่อนมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีกในข้อหาบุกรุก แม้คดีก่อนศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืนคดีถึงที่สุดหลังจากที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ก็ตามก็ถือได้ว่าสำหรับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว สิทธิของพนักงานอัยการที่นำคดีนี้มาฟ้องจึงระงับไป
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) มุ่งหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดนั้นๆ หาได้หมายถึงฐานความผิดที่ขอให้ลงโทษจำเลยไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1295/2509)
แม้จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อนก็ตาม แต่ก็ย่อมได้รับผลตามคำพิพากษาด้วยเพราะคำพิพากษาในคดีก่อนได้วินิจฉัยไว้ว่าการกระทำของจำเลยกับพวกไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ศาลจึงต้องยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านอันอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(1) (2), 83

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นได้ให้โจทก์ตรวจดูสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 521/2517 เมื่อตรวจดูแล้ว โจทก์แถลงว่าไม่ได้ทราบมาก่อนถึงคดีที่ผู้เสียหายฟ้องจำเลยที่ 1 นี้

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคดีทั้งสองเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกัน ในคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยข้อหาฐานบุกรุกไว้ว่า การกระทำของจำเลยกับพวกไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก เพราะจำเลยที่ 1 ในคดีนี้มีสิทธิครอบครองตึกพิพาท และผู้เสียหายในคดีนี้หรือโจทก์ในคดีก่อนยินยอมออกจากตึกพิพาทเองเพราะรู้ดีอยู่ว่าตนเป็นฝ่ายผิดสัญญาฟ้องในคดีก่อนจึงไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด เฉพาะจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ นอกจากกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) แล้วกรณียังต้องตามมาตรา 227 วรรคแรกด้วย โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิด ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ก็ย่อมได้รับผลตามมาตรา 227 วรรคแรก ด้วยเช่นกัน พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาในทำนองเดียวกับที่ได้กล่าวไว้ในอุทธรณ์

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยในคดีก่อนซึ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดี เป็นการกระทำกรรมเดียว วาระเดียวกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ในคดีนั่นเอง ในคดีก่อนผู้เสียหายฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาบุกรุก ความผิดต่อเสรีภาพ และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 309 และ 358 ซึ่งศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลในทั้งสามข้อหา จึงพิพากษายกฟ้อง ครั้นต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ในข้อหาฐานบุกรุก เนื่องจากในคดีก่อนศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนโดยวินิจฉัยในประเด็นแห่งความผิดที่กล่าวหาว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลและคดีถึงที่สุดแล้ว แม้คดีจะถึงที่สุดหลังจากที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้แล้วก็ตาม ก็ถือได้ว่าสำหรับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งพนักงานอัยการได้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) แล้ว สิทธิของพนักงานอัยการที่นำคดีนี้มาฟ้องระงับไป ส่วนที่โจทก์กล่าวในฎีกาว่าคดีทั้งสองมีมูลคดีและฐานความผิดต่างกัน ย่อมไม่อาจนำมาตรา 39(4)มาปรับได้นั้น บทมาตราดังกล่าวมุ่งหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดนั้น ๆ หาได้หมายถึงฐานความผิดที่ขอให้ลงโทษจำเลยไม่ ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1295/2509 สำหรับคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2นั้น แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อนก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ย่อมได้รับผลตามคำพิพากษาคดีก่อนด้วย เพราะเมื่อคำพิพากษาในคดีก่อนได้วินิจฉัยไว้ว่า สิทธิครอบครองตึกพิพาทเป็นของจำเลย (คือจำเลยที่ 1 ในคดีนี้) แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 กับพวกเข้าไปในตึกพิพาท ก็ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และถึงแม้ในคดีก่อนมิได้มีการสืบพยานดังที่โจทก์กล่าวไว้ในฎีกาด้วยก็ตาม ก็ปรากฏว่าการที่ศาลพิพากษายกฟ้องคดีก่อนเพราะคดีของโจทก์ไม่มีมูลนั้น ศาลได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งความผิดไว้แล้ว คดียังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นอย่างอื่น

พิพากษายืน

Share