คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1000/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากตึกรายพิพาท จำเลยมิได้ยื่นคำให้การและศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้วภริยาจำเลยจะร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่ามีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) หาได้ไม่ เพราะการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความดังกล่าวนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 บัญญัติว่าผู้ร้องจะใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าร่วมหรือในทางที่ขัดกับสิทธิของจำเลยเดิมไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าตึกแถวโจทก์ บัดนี้สัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่ากับจำเลย แต่จำเลยและบริวารยังไม่ยอมออกจากตึกรายพิพาท จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายออกจากตึกรายพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๒,๐๐๐ บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายออกไป
นางยุพา ธัมวราภรณ์ ร้องสอดเข้ามาว่าผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ได้อยู่อาศัยในตึกรายพิพาทตลอดมา เป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ตามกฎหมาย เนื่องจากจำเลยเดินทางไปต่างจังหวัดตั้งแต่ก่อนถูกฟ้อง ผู้ร้องพยายามติดตามจำเลยแต่ไม่พบตัว เกรงว่ากำหนดเวลายื่นคำให้การตามกฎหมายจะหมดเสียก่อนและจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การสู้คดี ซึ่งหากศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปและมีคำพิพากษาประการใดย่อมกระทบกระเทือนผู้ร้องได้ จึงขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้ร้องมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๒) ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ผู้ร้องจะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอ้างว่ามีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีและขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วมดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๒) ก็ตาม การร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความดังกล่าวนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๘ บัญญัติว่า ผู้ร้องจะใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าร่วมหรือในทางที่ขัดกับสิทธิของจำเลยเดิมไม่ได้ คดีนี้ปรากฏชัดว่าจำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี และศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้ร้องจะทราบได้อย่างไรว่าจำเลยจะให้การต่อสู้คดีอย่างไร ทั้งการร้องสอดของผู้ร้องในกรณีเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมหรือไม่ เหตุดังกล่าวการที่ศาลล่างพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องนั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว
พิพากษายืน

Share