คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2626/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดโดยอาศัยเหตุเพราะจำเลยผิดสัญญาหมั้น จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439(1) ที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าโจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฐานะเมิดจากจำเลยจึงเป็นการวินิจฉัยที่ผิดไปจากคำฟ้องของโจทก์ กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีเสียใหม่ ให้ถูกต้องตามประเด็นแห่งคดีได้
การหมั้นที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1435 โดยฝ่ายชายมีอายุไม่ถึง 17 ปีบริบูรณ์นั้น หาตกเป็นโมฆะไม่ ทั้งนี้ โดยอาศัยกฎหมายที่ใกล้เคียงเปรียบเทียบ คือการสมรสที่ฝ่าฝืนผิดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1445 ในเรื่องอายุทำนองเดียวกับมาตรา 1489 ก็มิได้บัญญัติให้เป็นโมฆะแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกับบัญญัติว่าให้ผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นมีอำนาจต้องขอต่อศาลได้ และไม่ได้บังคับให้ศาลจำต้องสั่งให้เพิกถอนโดยเด็ดขาดด้วย แต่ให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนเสียก็ได้เท่านั้น คงมีแต่เฉพาะในเรื่องการผิดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1445(2),(3),(4) และ (5) เท่านั้นที่ให้ถือว่าเป็นโมฆะ
การหมั้นที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1435 เป็นโมฆะหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องหรือเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่ศาลล่างยกประเด็นข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยเสียเองโดยคู่ความมิได้ยกขึ้นต่อสู้จึงไม่ชอบ
จำเลยได้ร่วมประเวณีกับ ร. และเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ร.ย่อมต้องได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสีย และมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439(1)

ย่อยาว

โจทก์ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนาวสาวเรณู ลีลาภัทร อายุ ๑๘ ปี ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบิดาผู้ปกครองของจำเลยที่ ๒ ได้หมั้นนางสาวเรณูซึ่งในขณะนั้นมีอายุ ๑๗ ปีให้กับจำเลยที่ ๒ ของหมั้นคือแหวนเพชร ๑ วง ราคา ๑๐,๐๐๐ บาท โดยกำหนดจะสมรสกันในเมื่อจำเลยที่ ๒ และนางสาวเรณูสำเร็จการศึกษาแล้ว ในวันหมั้นจำเลย ๑ ขอรับนางสาวเรณูไปอยู่ที่บ้านจำเลย โดยรับรองว่าจะอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่นางาวเรณูเช่นเดียวกับบุตรจำเลย และจำไม่ให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่นางสาวเรณู ถ้าเกิดความเสียหายแก่นางสาวเรณูไม่ว่าในทางเกียรติยศชื่อเสียงหรือทางใด ๆ ขึ้น จำเลยยินยอมชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หลังจากนางสาวเรณูไปอยู่ร่วมเรือนกับจำเลย จำเลยที่ ๒ ได้ปลุกปล้ำขืนใจล่วงเกินทางประเวณีต่อนางสาวเรณูจนตั้งครรภ์ จำเลยที่ ๑ ได้แนะนำให้นางสาวเรณูรักษาด้วยการฉีดยาจนแท้งบุตรแล้วขับไล่ออกจากบ้าน กับห้ามมิให้จำเลยที่ ๒ สมรส และเรียกแหวนหมั้นคืน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ของหมั้นชอบที่จะตกเป็นสิทธิของนางสาวเรณู การที่นางสาวเรณูต้องสูญเสียความสาวให้แก่จำเลยที่ ๒ เป็นความเสียหายต่อกายและต่อเกียรติยศชื่อเสีย ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดใช้ค่าทดแทนเป็นจำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท กับให้จำเลยคืนแหวนหมั้น หากไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ๑๐,๐๐๐ บาทแก่นางสาวเรณู ลีลาภัทร
จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบิดาผู้ปกครองของจำเลยที่ ๒ มีอายุ ๑๖ ปีจริง จำเลยที่ ๑ จัดการหมั้นนางสาวเรณูให้แก่จำเลยที่ ๒ ด้วยแหวนราคา ๓,๔๐๐ บาท จำเลยได้รับนางสาวเรณูมาอยู่ด้วยโดยจัดให้นางสาวเรณูนอนห้องเดียวกับบุตรสาว ส่วนจำเลยที่ ๒ อยู่อีกห้องหนึ่งต่างหาก จำเลยที่ ๒ ไม่เคยปลุกปล้ำขืนใจนางสาวเรณู นางสาวเรณูไม่เคยตั้งครรภ์ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยแนะนำให้นางสาวเรณูไปฉีดยาทำแท้ง ไม่เคยขับไล่ ไม่เคยห้ามจำเลยที่ ๒ สมรสกับนางสาวเรณูและไม่เคยเรียกแหวนหมั้นคืน นางสาวเรณูไปอยู่กับจำเลยก็มักจะทะเลาะกับจำเลยที่ ๒ อยู่เสมอ และชอบเที่ยวเตร่กลับบ้านค่ำคืน ตักเตือนไม่เชื่อฟัง เมื่อจำเลยที่ ๑ กับบุตรภรรยาออกไปจากบ้านกลับมาก็ทราบว่านางสาวเรณูขนของกลับไปอยู่กับมารดาเลี้ยงเสียแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ขณะที่มีการหมั้น จำเลยที่ ๒ มีอายุยังไม่ครบ ๑๗ ปี การหมั้นจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๕ สัญญาหมั้นเป็นโมฆะ แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลหยิบยกขึ้นได้ และเป็นปัญหาเกี่ยวไปถึงเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาหมั้นได้ ประเด็นเกี่ยวกับแหวนหมั้นจึงไม่ต้องวินิจฉัยถึง ส่วนประเด็นเรื่องละเมิดนั้นเห็นว่า เป็นเรื่องยินยอมด้วยกัน ไม่เชื่อว่าจำเลยที่ ๒ จะได้ปลุกปล้ำขืนใจร่วมประเวณีนางสาวเรณู ไม่เป็นการละเมิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การหมั้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ เป็นโมฆะ ไม่ต้องวินิจฉัยถึงเรื่องของหมั้น ปัญหาว่า จำเลยที่ ๒ ได้ปลุกปล้ำขืนใจร่วมประเวณีนางสาวเรณูหรือไม่เชื่อว่า จำเลยที่ ๒ ได้ใช้กำลังปลุกปล้ำขืนใจร่วมประเวณีนางสาวเรณูจริง แม้ต่อมาภายหลังจะยินยอม แต่ครั้งแรกก็เป็นการละเมิดจำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ในการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๙ ด้วย และกำหนดค่าสินไหมทดแทน ๒๐,๐๐๐ บาท พิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นเรื่องเรียกคืนแหวนหมั้นยุติไปแล้วเพราะโจทก์มิได้ฎีกา คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยแต่เฉพาะเรื่องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์อ้างให้จำเลยรับรับผิดโดยอาศัยเหตุว่าเพราะจำเลยผิดสัญญาหมั้น จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๙(๑) การที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าโจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฐานะเมิดจากจำเลยจึงเป็นการวินิจฉัยที่ผิดไปจากคำฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีเสียใหม่ ให้ถูกต้องตามประเด็นแห่งคดีได้
และศาลฎีกาเห็นว่า การหมั้นที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๕ โดยฝ่ายชายมีอายุไม่ถึง ๑๗ ปีบริบูรณ์นั้น หาตกเป็นโมฆะไม่ ทั้งนี้ โดยอาศัยกฎหมายที่ใกล้เคียงเปรียบเทียบ คือการสมรสที่ฝ่าฝืนผิดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๔๕(๑) ในเรื่องอายุทำนองเดียวกับมาตรา ๑๔๘๙ ก็มิได้บัญญัติให้เป็นโมฆะ ตรงกันข้ามกับบัญญัติว่าให้ผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นมีอำนาจต้องขอต่อศาลได้ และไม่ได้บังคับให้ศาลจำต้องสั่งให้เพิกถอนโดยเด็ดขาดด้วย แต่ให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนเสียก็ได้เท่านั้น คงมีแต่เฉพาะในเรื่องการผิดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๔๕(๒),(๓),(๔) และ (๕) เท่านั้นที่ให้ถือว่าเป็นโมฆะ
(มาตรา ๑๔๙๐ และ มาตรา ๑๔๙๑) และประเด็นข้อนี้ไม่ได้เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง หรือเกี่ยวความสงบเรียบร้อยของประชาแต่อย่างใด การที่ศาลล่างทั้งสองยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยเสียเองโดยคู่ความมิได้ยกขึ้นต่อสู้ จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้มีปัญหาว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ประเด็นหนึ่ง และเรื่องค่าเสียหายอีกประเด็นหนึ่ง ในประเด็นแรกศาลฎีกาฟังว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ในประเด็นหลังเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมประเวณีกับนางสาวเรณูจริง และนางสาวเรณูได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสียง และมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๙(๑)
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในผลแห่งคดี

Share