แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาขายลดเช็คกฎหมายมิได้บังคับให้ทำหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ การที่จำเลยที่ 2 กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 เจรจาตกลงขายลดเช็คแก่โจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 ด้วยวาจาย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์รับซื้อลดเช็คจากจำเลยที่ 1 อำนาจฟ้องของโจทก์จึงอยู่ที่ว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อลดเช็คหรือไม่ ข้อฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการขายลดเช็คไม่อาจนำมาปรับแก่กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ได้จึงเป็นข้อฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี ที่กำหนดไว้ในสัญญาขายลดเช็คเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเสียเปล่าบังคับไม่ได้ แต่จำเลยที่ 3 มิได้ยกบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาแสดงโดยชัดแจ้งในฎีกาว่าเป็นกฎหมายอะไร บัญญัติไว้ว่าอย่างไร ฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง แม้จำเลยที่ 3 จะฎีกาว่าโจทก์รับซื้อลดเช็คเป็นการประกอบกิจการลักษณะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จะคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ได้ก็เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ตกลงค้ำประกันหนี้ทุกชนิดที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2นำเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 701,964 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง มาขายลดแก่โจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนดปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 717,830 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 701,964 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการขายลดเช็คโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเช็คไปขายลดแก่โจทก์ลายมือชื่อในเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์หมายเลข 3 ในช่องผู้ค้ำประกันไม่ใช่ลายมือของจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานอย่างใดที่จะเรียกได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 701,964บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนนี้นับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2529 จนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 717,830 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 701,964 บาท ถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายลดเช็คตามเอกสารหมาย จ.6 ให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มาทำนิติกรรมขายลดเช็คแก่โจทก์ได้ตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 แต่ศาลฎีกาเห็นว่า สำเนาตราสารดังกล่าวมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้ฉะนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2มาทำนิติกรรมขายลดเช็คแก่โจทก์ แต่สัญญาขายลดเช็คกฎหมายมิได้บังคับให้ทำหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ การที่จำเลยที่ 2 กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจกระทำกิจการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตามกฎหมาย เจรจาตกลงขายลดเช็คแก่โจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 ด้วยวาจา ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อโจทก์มีนางศรีวรรณา เจียรวัฒน์ชัยกรรมการบริษัทโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ได้นำเช็คของจำเลยที่ 1มาเจรจาตกลงขายลดแก่โจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 โดยมีเช็คเอกสารหมาย จ.6 และหลักฐานสัญญาขายลดเช็คเอกสารหมาย จ.5สนับสนุนว่า จำเลยที่ 2 ได้มาเจรจาตกลงกับโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยที่ 3 ที่นำสืบปฏิเสธลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายลดเช็คให้แก่โจทก์ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายลดเช็คตามเอกสารหมาย จ.6 ให้แก่โจทก์จริง เมื่อเช็คดังกล่าวเบิกเงินจากธนาคารตามเช็คไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาขายลดเช็ค…
ประเด็นที่ 2 ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการขายลดเช็คจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 ขายลดเช็คแก่โจทก์หรือที่โจทก์รับซื้อลดเช็คจากจำเลยที่ 1 หาใช่กรณีโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามสัญญาที่โจทก์ขายลดเช็คแก่จำเลยที่ 1 ไม่ อำนาจฟ้องของโจทก์จึงอยู่ที่ว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อลดเช็คหรือไม่ หาได้อยู่ที่ว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการขายลดเช็คหรือไม่ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3ดังกล่าวแล้วไม่อาจนำมาปรับแก่กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ได้จึงเป็นข้อฎีกาที่ไม่เป็นข้อฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ประเด็นที่ 3 ที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนางศรีวรรณาเบิกความว่า จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาขายลดเช็คแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 ย่อมหมายถึงว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงกับโจทก์ว่า หากเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาขายนั้นรับเงินจากธนาคารไม่ได้ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีนับแต่วันธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะใช้เงินเสร็จแก่โจทก์ตามที่ปรากฏข้อความในเอกสารหมาย จ.5 นั่นเอง เพราะข้อความในเอกสารหมาย จ.5 เป็นข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากจำเลยที่ 2เจรจาตกลงกับโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ในกรณีที่โจทก์เบิกเงินตามเช็ค ที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดแก่โจทก์นั้นไม่ได้ ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงดังกล่าวแต่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 1 เพียงอัตราร้อยละ 15 ต่อปีไม่เกินไปจากสิทธิที่มีอยู่ โจทก์จึงมีสิทธิกระทำได้ ที่จำเลยที่ 3ฎีกาว่า อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเสียเปล่าบังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 มิได้ยกบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาแสดงโดยชัดแจ้งในฎีกาว่าเป็นกฎหมายอะไรบัญญัติไว้ว่าอย่างไร ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้ และที่จำเลยที่ 3ฎีกาว่าโจทก์รับซื้อลดเช็คเป็นการประกอบกิจการลักษณะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จะคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีไม่ได้ ยกเว้นธนาคารหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้วนั้น เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้ สรุปแล้วฎีกาของจำเลยที่ 3 ทั้งหมดฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน