แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ไม่มีสิ่งใดให้ไว้เป็นมัดจำ เมื่อไม่มีการปฏิบัติตามสัญญาก็ย่อมจะไม่มีมัดจำให้ริบ หนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงสัญญาซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันผูกพันต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น จึงมิใช่มัดจำตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 โจทก์จะริบเงินจำนวนนี้ในฐานะเป็นมัดจำไม่ได้ และจะเรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันก็ไม่ได้ เพราะตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ตกลงยอมชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 ต่อเมื่อโจทก์มีสิทธิริบเงินที่วางไว้เป็นประกัน แต่คดีนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามสัญญาค้ำประกันเพราะมิใช่มัดจำเสียแล้ว ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาการประกวดราคา โจทก์ได้บอกเลิกการจัดซื้อและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 โดยขอริบเงินมัดจำของ———-จำนวน 65,300 บาท ตามเงื่อนไขการประกวดราคาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงต้องชำระแทนขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินมัดจำซอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิริบมัดจำหรือเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นซองประกวดราคาเสนอขายสวิตซ์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูงตามประกาศของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ใช้หนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 มาวางค้ำประกันแทนเงินมัดจำอันมีข้อความระบุว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ทำสัญญา ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบเงินที่วางไว้เป็นประกันซองประกวดราคาจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ยอมชำระเงินแทนให้ทันทีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 377 บัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่า สัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย” ดังนี้ เห็นได้ว่า หากไม่มีการให้สิ่งใดเป็นมัดจำไว้ เมื่อไม่มีการปฏิบัติตามสัญญาก็ย่อมจะไม่มีมัดจำให้ริบ หนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงสัญญาซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันผูกพันต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น จึงมิใช่เป็นมัดจำตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จะริบเงินจำนวนนี้ในฐานเป็นมัดจำไม่ได้ และจะเรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันก็ไม่ได้อีกเช่นกันเพราะตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ตกลงยอมชำระเงินแทนจำเลยที่ 1เมื่อโจทก์มีสิทธิริบเงินที่วางไว้เป็นประกัน แต่คดีนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามสัญญาค้ำประกันเพราะมิใช่มัดจำดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษายืน