คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1990/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การลงโฆษณาหมายเรียกจำเลยทางหนังสือพิมพ์นั้น. ย่อมมีผลเฉพาะจำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยชั่วคราวในระหว่างระยะเวลาที่ได้มีการลงโฆษณา.
จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติมาเลเซีย. มีภูมิลำเนาอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย. เมื่อพนักงานสอบสวนปล่อยตัวจำเลย จำเลยกลับไปประเทศมาเลเซียก่อนศาลชั้นต้นลงโฆษณาหมายเรียกจำเลย และไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้น จำเลยได้กลับมาในประเทศไทยอีก. ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าได้มีการส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยในประเทศโดยชอบแล้ว ศาลจึงดำเนินคดีต่อไปไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุรีย์ ศรีสุข ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ เด็กชายเจษฎาเด็กหญิงวิภาภรณ์ และเด็กหญิงสุภาวดี ส่วนโจทก์ที่ 2 ที่ 3 เป็นบิดามารดาของนายสุรีย์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2509 จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บี.แอล. 1522 เพื่อเดินทางกลับประเทศมาเลเซียด้วยความเร็วสูง โดยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่พอถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 8-9 ถนนเพชรเกษม จำเลยขับรถยนต์ไปบนถนนด้านขวามือของจำเลยข้ามสะพานแคบ ๆ โดยไม่ลดความเร็วเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนกับรถจักรยานยนต์ที่นายสุรีย์ขับขี่มีนายเคียง อ่อนสนิท นั่งซ้อนท้ายซึ่งวิ่งสวนทางมา ทำให้รถจักรยานยนต์ฟังยับเยินนายสุรีย์และนายเคียงถึงแก่ความตาย ณ ที่นั้นเหตุเกิดที่ตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์ที่ 1 ต้องสูญเสียสามีและมีบุตรที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูถึง 3 คน โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ต้องสูญเสียบุตรและต้องขาดอุปการะเลี้ยงดูจากบุตร จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดจากการละเมิด และค่าขาดไร้อุปการะรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 190,500 บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 190,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้องอาญาในวันที่ 30 มกราคม 2510โจทก์นำพนักงานศาลส่งหมายนัดให้จำเลยที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตรังเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2509 ครั้นวันที่ 26 มกราคม 2510โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตต่อมาในวันที่ 30 มกราคม 2510 ซึ่งเป็นวันนัดเดิม จำเลยมาศาลและแต่งตั้งนายทวีปเป็นทนายเข้าฟังการไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ที่ 1จึงยื่นคำแถลงต่อศาลขอให้สั่งเจ้าหน้าที่ส่งหมายแจ้งวันนัดไต่สวนนัดหน้าซึ่งเลื่อนไปในวันที่ 24 มีนาคม 2510 ให้จำเลย แต่จำเลยไปจากศาลเสียก่อน โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลว่า จำเลยพักอยู่บ้านนายเกษมสุขเกษม บ้านควนขนุน หมู่ 4 ขอให้เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดให้จำเลยที่นั่น เจ้าพนักงานศาลไปส่งแล้ว ปรากฏว่าจำเลยไม่อยู่ไม่มีใครยอมรับแทนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แสดงหลักฐานอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยให้ชัดแจ้ง โจทก์แถลงว่าจำเลยไม่มีหลักฐานการแจ้งอยู่ในบ้านนายเกษม เพียงแต่รู้กันในระหว่างคนบ้านใกล้เคียงบัดนี้จำเลยออกจากบ้านนายเกษมไปแล้ว ไม่ทราบว่าไปอยู่แห่งใด ขอให้ประกาศแจ้งวันนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยทราบทางหนังสือพิมพ์ศาลชั้นต้นให้ประกาศหนังสือพิมพ์ตามโจทก์ขอและนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 3 พฤษภาคม 2510 ในวันนัดไต่สวน จำเลยไม่มาศาล คงมีนายทวีปทนายจำเลยมาฟังการไต่สวนและซักค้านพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า คดีโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้อง หมายเรียกจำเลยส่วนทางแพ่งให้จำเลยยื่นคำให้การภายใน 8 วัน นับแต่วันได้รับหมาย วันที่ 4 พฤษภาคม 2510 นายทวีปทนายจำเลยยื่นคำแถลงว่า ตั้งแต่จำเลยแต่งทนายไว้แล้ว จำเลยไปอยู่ประเทศมาเลเซีย เพราะมีภูมิลำเนาอยู่ที่นั่น ไม่เคยกลับมาพบทนายอีก จึงขอถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต วันที่ 4 พฤษภาคม 2510 โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลว่าจำเลยมีภูมิลำเนาไม่แน่นอน ไม่อาจทราบสำนักงานและที่อยู่ได้ ขอให้ประกาศหมายเรียกจำเลยมาแก้คดีส่วนแพ่งทางหนังสือพิมพ์ ศาลชั้นต้นสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์ตามขอ ครบกำหนดจำเลยยื่นคำให้การในวันที่20 กรกฎาคม 2510 แต่จำเลยไม่มาศาล และไม่ยื่นคำให้การโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2510 ขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ พิจารณาคดีโจทก์ฝ่ายเดียว และโจทก์ขอถอนฟ้องคดีส่วนอาญา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีส่วนอาญาได้ส่วนคดีแพ่งยังไม่แน่นอนว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยเพราะในชั้นไต่สวนฉุกเฉิน ปรากฏว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศมาเลเซีย โจทก์แถลงว่า เพียงแต่ทราบจากชาวบ้านว่าจำเลยอยู่ในประเทศไทย ส่วนหลักฐานทะเบียนบ้านที่แสดงว่าจำเลยอยู่ในประเทศไทย โจทก์ไม่สามารถนำมาแสดงได้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าเพียงแต่กล่าวอ้างด้วยปาก แต่เพื่อให้แน่นอน เพราะปรากฏว่าตอนเกิดเรื่องใหม่ ๆ จำเลยถูกกล่าวหาและควบคุมตัวอยู่สถานีตำรวจ จึงให้สอบถามไปยังพนักงานสอบสวนว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ พนักงานสอบสวนอำเภอเมืองตรังแจ้งมาว่า จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติมาเลเซีย มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 63 ถนนพี๊ชสุไหงบุโละ กัวลาลัมเปอร์เคยเดินทางไปมาระหว่างมาเลเซีย – สงขลาแต่ที่พักในประเทศไทยไม่แน่นอน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติมาเลเซีย อยู่ที่กัวลาลัมเปอร์การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เป็นกรณีเกี่ยวด้วยหนี้เหนือบุคคล แม้จำเลยจะเข้ามาในประเทศไทยบ่อย ๆ แต่จำเลยมิได้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ศาลจะดำเนินคดีต่อไปได้ต่อเมื่อได้ส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยในประเทศไทยแล้ว แม้จำเลยจะได้หมายประกาศทางหนังสือพิมพ์ก็ดี ได้ส่งหมายนัดให้จำเลยยื่นไต่สวนฉุกเฉิน และไต่สวนมูลฟ้องก็ดี แต่หมายนัดไม่ใช่หมายเรียก เมื่อยังมิได้ส่งหมายเรียกให้จำเลย ศาลก็ดำเนินคดีต่อไปไม่ได้ ให้ยกคำร้องโจทก์ที่ขอให้สั่งจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเคยเดินทางไปมาระหว่างมาเลเซียและสงขลาแสดงว่าจำเลยมีที่พักในประเทศไทย แต่ที่พักในประเทศไทยไม่แน่นอนโจทก์จึงขอให้ศาลประกาศหมายเรียกจำเลยทางหนังสือพิมพ์ เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 76ถือว่าโจทก์ได้ส่งหมายเรียกให้จำเลยในประเทศไทยแล้ว ศาลดำเนินคดีต่อไปได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาต่อมา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การลงโฆษณาหมายเรียกจำเลยทางหนังสือพิมพ์นั้น ย่อมมีผลเฉพาะจำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยชั่วคราวในระหว่างระยะเวลาที่ได้มีการลงโฆษณา ตามข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติมาเลเซียมีภูมิลำเนาอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เกิดเหตุแล้วจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตรังเป็นการชั่วคราวเมื่อพนักงานสอบสวนปล่อยจำเลยจำเลยก็กลับไปประเทศมาเลเซียก่อนศาลชั้นต้นลงโฆษณาหมายเรียกจำเลยทางหนังสือพิมพ์และไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้นจำเลยได้กลับเข้ามาในประเทศไทยอีก ถือไม่ได้ว่าได้มีการส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยในประเทศไทยโดยชอบแล้ว ศาลจึงดำเนินคดีต่อไปไม่ได้ พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์.

Share