แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 176 มิได้หมายความว่า เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ศาลชั้นต้นสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว จึงพิพากษาคดี เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจนเป็นที่น่าพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 ดังนี้ จำเลยก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด และปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หมายความว่า ก่อนทำการฆ่า ผู้กระทำผิดได้คิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด ไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วนเพราะเมาสุราหรือบันดาลโทสะ พฤติการณ์ที่จำเลยกับผู้ตายเล่นการพนันและทะเลาะวิวาทกันขณะจำเลยเมาสุรานั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ความโกรธจะมากน้อยเพียงใดก็แล้วแต่สภาพจิตของแต่ละคน แต่การที่จำเลยออกจากที่เกิดเหตุแล้วกลับมาอีกครั้งใช้เวลาประมาณ 5 นาที พร้อมอาวุธมีด แสดงว่าจำเลยโกรธมากในการทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย ระยะเวลาที่เกิดขึ้นรวดเร็วเพียงนั้น โอกาสที่จำเลยจะได้คิดไตร่ตรองทบทวนไว้ก่อนย่อมมีน้อย การที่จำเลยกลับมายังที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายในเวลาต่อเนื่องกัน จึงไม่พอรับฟังว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 289, 334, 371 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 334, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิต ฐานลักทรัพย์ จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธไปเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานลักทรัพย์ คงจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร คงปรับ 50 บาท รวมทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) เป็นจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 50 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ให้จำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี เมื่อรวมกับโทษอื่นแล้วเป็นจำคุก 10 ปี 6 เดือน และปรับ 50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาโจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2556 จำเลยและนายพันธ์ศักดิ์ ผู้ตาย ร่วมกันเล่นพนันไฮโลอยู่ที่บ้านเลขที่ 526/39 ในชุมชนแฟลตกระป๋อง กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ร่วมเล่นประมาณ 5 คน เล่นกันจนกระทั่งเวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยมีอาการเมาสุราและเสียพนันติดหนี้พนันผู้ตาย 1,000 บาทเศษ แต่จำเลยไม่มีเงินจ่ายหนี้และทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย จำเลยบอกกับผู้ตายว่า “กูมีแต่ลูกปืนจะเอามั้ย” แล้วจำเลยเดินออกจากบ้านไปและขับรถจักรยานยนต์กลับบ้านพักของจำเลยซึ่งเป็นบ้านไม่มีเลขที่อยู่ในชุมชนแฟลตกระป๋องห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 120 เมตร เพื่อไปเอาอาวุธมีดและขับรถจักรยานยนต์กลับมาที่วงพนันไฮโลที่ยังเล่นกันอยู่ใช้เวลาไปกลับประมาณ 5 นาที โดยจำเลยใส่เสื้อแขนยาวลายพรางทหารสวมทับเสื้อตัวเดิมมาด้วยและจำเลยซ่อนอาวุธมีดไว้ภายในแขนเสื้อดังกล่าว จำเลยพูดขึ้นว่า “ใครจะรับจำนำรถมั้ย” แต่คนในวงพนันไฮโลไม่ได้ตอบอะไร จากนั้นจำเลยหยิบอาวุธมีดออกจากแขนเสื้อแล้วเข้าไปจะใช้อาวุธมีดแทงผู้ตาย นายจีรวัฒน์ ผู้เล่นพนันไฮโลซึ่งอยู่ใกล้กับผู้ตายใช้มือจับแขนจำเลยข้างที่ถืออาวุธมีดไว้และพยายามปัดอาวุธมีดทิ้ง นายจีรวัฒน์เสียหลักล้มลง จำเลยจึงใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายที่บริเวณแก้มด้านล่างข้างขาว 1 ครั้ง แล้วจำเลยดึงคอเสื้อผู้ตายขึ้นมาโดยมีสร้อยคอทองคำของผู้ตายติดมาด้วย ผู้ตายพูดกับจำเลยว่า “มึงจะปล้นกูเลยเหรอ” จำเลยก็ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถูกบริเวณลำคอจนผู้ตายล้มลงกับพื้น เป็นเหตุให้เส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอของผู้ตายฉีกขาดและถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยลักเอาสร้อยคอทองคำ 1 เส้น ที่ขาดออกติดมือจำเลยมาเพียงบางส่วนพร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ ของผู้ตาย แล้วหลบหนีไป เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ในสภาพที่มีรอยเลือดติดอยู่ตามเสื้อผ้า จำเลยรับในชั้นจับกุมว่านำอาวุธมีดที่ใช้แทงผู้ตายไปซ่อนไว้ในอ่างบัวหน้าบ้านเลขที่ 526/31 ซึ่งอยู่ติดกับบ้านที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจึงยึดไว้เป็นของกลาง และจำเลยนำสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองไปซ่อนไว้ในถังขยะหน้าบ้านพักจำเลย พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่าฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และลักทรัพย์ จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เจ้าพนักงานตำรวจนำชี้สถานที่เกิดเหตุไว้
จำเลยไม่สืบพยาน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และมาตรา 195 หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 มิได้หมายความว่า เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว จึงพิพากษาคดี เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจนเป็นที่น่าพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ดังนี้ จำเลยก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด และปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อสองว่า จำเลยกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาโจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว เห็นว่า การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หมายความว่า ก่อนทำการฆ่า ผู้กระทำผิดได้คิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด ไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วนเพราะเมาสุราหรือบันดาลโทสะ พฤติการณ์ที่จำเลยกับผู้ตายเล่นการพนันและทะเลาะวิวาทกันขณะจำเลยเมาสุรานั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ความโกรธจะมากน้อยเพียงใด ก็แล้วแต่สภาพจิตของแต่ละคน แต่การที่จำเลยออกจากที่เกิดเหตุแล้วกลับมาอีกครั้งใช้เวลาประมาณ 5 นาที พร้อมอาวุธมีด แสดงว่าจำเลยโกรธมากในการทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย ระยะเวลาที่เกิดขึ้นรวดเร็วเพียงนั้น โอกาสที่จำเลยจะได้คิดไตร่ตรองทบทวนไว้ก่อนย่อมมีน้อยการที่จำเลยกลับมายังที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายในเวลาต่อเนื่องกัน จึงไม่พอรับฟังว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อสุดท้ายที่ขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นนั้น เห็นว่า จำเลยกระทำต่อผู้ตายอย่างอุกอาจ และแทงผู้ตายหลายครั้งอย่างรุนแรงต่อหน้าผู้อื่นหลายคน โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุก 20 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น ยังไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานฆ่าผู้อื่น ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี เมื่อรวมโทษอื่นแล้ว เป็นจำคุก 25 ปี 6 เดือนและปรับ 50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์