คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1972/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 2 กระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) จึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์ร่วมจะไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย แต่ผู้เสียหายยังคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ ผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายชัชวาล ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การในส่วนคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69, 80 จำเลยที่ 2 กระทำความผิดในขณะอายุยังไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ลงโทษจำคุก 3 ปี เห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีนี้จำเลยที่ 2 กระทำผิดไปเพราะถูกยั่วยุและขณะกระทำผิดอายุเพียง 18 ปีเศษ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด ให้จำเลยที่ 2 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควร มีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 30,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบมาตรา 52 (1), 53 แล้ว (ที่ถูก ไม่ต้องประกอบมาตรา 52 (1), 53) จำคุก 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์ร่วมกับพวกไปที่บ้านนางสาวละมัย มารดาจำเลยที่ 2 ที่เกิดเหตุ แล้วโจทก์ร่วมเข้าไปในบริเวณบ้าน ส่วนพวกของโจทก์ร่วมรออยู่นอกรั้วบ้าน โจทก์ร่วมพบจำเลยที่ 2 กับพวกรวมประมาณ 10 คน นั่งดื่มสุรากันที่แคร่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งโจทก์ร่วมไม่รู้จักมาก่อน โจทก์ร่วมถามหานายทอนและนายหม่อม ไม่ทราบชื่อจริงและชื่อสกุล จำเลยที่ 2 กับพวกไม่รู้จัก จึงบอกให้โจทก์ร่วมออกไปจากบ้าน ระหว่างนั้นโจทก์ร่วมพูดท้าต่อย ท้าตี กับจำเลยที่ 2 กับพวก ต่อมาโจทก์ร่วมกับพวกย้อนกลับเข้ามาในบ้านแล้วทุบทำลายข้าวของที่อยู่ภายในบ้านได้รับความเสียหาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดฟันโจทก์ร่วมโดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กาย หลังเกิดเหตุนางสาวปรียา มารดาโจทก์ร่วมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ร่วมถูกรุมทำร้าย ส่วนนางสาวละมัยก็ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ร่วมกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายคนและทำลายทรัพย์สินภายในบ้านได้รับความเสียหาย ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ร่วมกับพวกเป็นคดีอาญา ในข้อหาร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยใช้กำลังประทุษร้าย ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เบื้องต้นโจทก์ร่วมให้การปฏิเสธ ส่วนพวกของโจทก์ร่วมให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นได้แยกฟ้องโจทก์ร่วมเป็นคดีใหม่และต่อมาโจทก์ร่วมให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าโจทก์ร่วมมีความผิดตามฟ้อง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2995/2559 ของศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการพยายามฆ่าโจทก์ร่วม ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมเบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ร่วมเดินเข้าไปสอบถามหาคนที่รู้จักกับกลุ่มพวกของจำเลยที่ 2 เมื่อมีคนตอบว่าไม่รู้จักคนดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงเดินกลับไปที่รถจักรยานยนต์ แต่จำเลยที่ 2 กับพวกกลับตามมารุมทำร้ายโจทก์ร่วมโดยจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดฟันที่ศีรษะและบริเวณข้อมือของโจทก์ร่วมจนได้รับบาดเจ็บ เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า ก่อนถูกจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดฟันนั้น โจทก์ร่วมเดินกลับออกมาอยู่นอกรั้วบ้านและขณะนั้นเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายและทำลายข้าวของภายในบ้านยุติไปแล้ว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่โจทก์ร่วมเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน ทั้งพยานจำเลยปากนายจักรพรรดิ ก็เบิกความเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมในประเด็นนี้ แสดงว่าเหตุการณ์อันเป็นเหตุแห่งการป้องกันนั้นผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดฟันโจทก์ร่วม จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำโดยป้องกันได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ร่วมบุกรุกเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 2 แล้วพูดจาท้าตีท้าต่อยทั้งยังร่วมกับพวกทำลายข้าวของและทำร้ายร่างกายพวกของจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ภายในบ้านดังกล่าว อันเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ถือเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดฟันศีรษะโจทก์ร่วมในระยะเวลาที่ต่อเนื่องกันและโจทก์ร่วมยังไม่หยุดพูดจาท้าทาย จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 2 กระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) จึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์ร่วมจะไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย แต่ผู้เสียหายยังคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ ผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายจึงชอบและเหมาะสมแล้ว ปัญหาทั้งสองประการนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การในประเด็นแรก และไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในประเด็นหลัง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า ที่เกิดเหตุเป็นบ้านของจำเลยที่ 2 โจทก์ร่วมกับพวกเข้ามาก่อเหตุขึ้นก่อนทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 กับพวกก็แสดงอาการเป็นมิตร โดยการยกสุราให้ดื่ม แต่โจทก์ร่วมก็ยังแสดงกิริยาที่ไม่สมควร ในลักษณะไม่ยำเกรงใคร ทั้งยังพูดท้าตีท้าต่อยและร่วมกับพวกเข้าไปทำลายทรัพย์สินภายในบ้านของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดฟันโจทก์ร่วมถึงแม้จะฟังว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 30,000 บาท อันถือเป็นการรับผิดในผลของการกระทำไปแล้วส่วนหนึ่ง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 โดยการรอการลงโทษ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้ฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 72, 80 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง และให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 ไว้ตลอดเวลาที่รอการลงโทษ โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ให้จำเลยที่ 2 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) และให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share