คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การปิดหมายเรียกสำเนาคำฟ้องและหมายนัดสืบพยานโจทก์ ณ สำนักงานบริษัทอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งศาลเป็นการปฏิบัติถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 แล้วเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การและไม่ไปศาลในวันสืบพยานโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ไม่มีเหตุที่จะขอให้พิจารณาใหม่.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในมูลละเมิด จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่โดยอ้างว่า การส่งหมายทั้งหมดได้ส่งโดยวิธีปิดหมายที่ประตูทางเข้าออกสำนักงานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ทราบเรื่อง ประมาณกลางเดือนกันยายน 2530ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 2 ทราบเรื่องโดยบังเอิญที่ศาลแพ่งและมาบอกจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2และไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า การส่งหมายกระทำโดยชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า หลังจากศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องแล้วได้มีการออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ณ สำนักงานอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เพื่อแก้คดี โดยส่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2529 แต่ส่งไม่ได้เพราะไม่พบผู้จัดการของจำเลยที่ 2 พบแต่ชายอายุประมาณ 30 ปี ไม่ยอมรับหมายไว้แทน ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2529 ได้มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 ใหม่ แต่ไม่สามารถส่งได้จึงได้มีการปิดหมายตามคำสั่งศาล และในการนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 1พฤษภาคม 2529 ได้มีการส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งศาล ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องและหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยปิดที่ประตูทางเข้าออกของสำนักงานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 หรือพนักงานไม่ทราบเพิ่งจะมาทราบว่าถูกฟ้องเมื่อที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 ไปทำกิจธุระที่ศาลแพ่ง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องกับหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 จึงเป็นการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การและไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ไม่มีเหตุที่จะให้พิจารณาใหม่ และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share