แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ถือว่าโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 46 (9) และ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.2540 มาตรา 4 กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าว่าต่างและแก้ต่างคดีแทนโจทก์ได้ และพนักงานอัยการเป็นผู้ปฏิบัติราชการให้สำนักงานอัยการสูงสุด โดยอำนาจและหน้าที่ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 (เดิม) มาตรา 11 กำหนด เมื่อโจทก์แต่งตั้งพนักงานอัยการให้ทำหน้าที่ทนายความ พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (2)
จำเลยประกอบกิจการอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายกระดาษ จำเลยซื้อก๊าซจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อนภายในโรงงานของจำเลยเพื่อผลิตกระดาษอันเป็นกิจการของจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ ผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบให้จำเลยทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยนั้นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในเงินค่าก๊าซที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)
แม้พฤติการณ์ที่โจทก์ปิดวาล์วก๊าซ ถือว่าโจทก์ในฐานะคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาซื้อขายก๊าซแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่กรณีก็เป็นการเลิกสัญญาเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายจากการผิดสัญญาซื้อขายก๊าซของจำเลย ซึ่งได้เกิดขึ้นและยังมีอยู่ตลอดไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยสิ้นเชิง การเลิกสัญญาดังกล่าวหาได้ทำให้สิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากจำเลยระงับไปไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 115,360,077.25 บาท พร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของต้นเงิน 64,028,645.46 บาท นับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 87,453,358.76 บาท แก่โจทก์ พร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของต้นเงินจำนวน 64,028,645.46 บาท นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์เป็นนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 เรียกว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ต่อมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงทุนเป็นเรือนหุ้นของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและเห็นชอบในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มาตรา 19 วันที่ 30 กันยายน 2544 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 ยกเลิกพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 และวันที่ 1 ตุลาคม 2544 โจทก์แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 โดยยังมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2544 จำเลยกับโจทก์ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกัน โดยจำเลยตกลงซื้อก๊าซจากโจทก์เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อนภายในโรงงานผลิตกระดาษของจำเลย ต่อมาจำเลยผิดสัญญาโดยค้างชำระค่าก๊าซแก่โจทก์ในปี 2547 งวดเดือนมีนาคม 2547 ถึงเดือนธันวาคม 2547 จำนวน 10 งวด ในปี 2548 งวดเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ถึงเดือนธันวาคม 2548 จำนวน 11 งวด และในปี 2549 งวดเดือนมกราคม 2549 ถึงเดือนมิถุนายน 2549 จำนวน 6 งวด โดยรวมค้างชำระค่าก๊าซทั้งสิ้น 64,028,654.46 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,482,005.19 บาท เบี้ยปรับตามสัญญา (ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะกำหนดให้ใหม่) 46,849,426.60 บาท รวมเป็นเงิน 115,360,077.25 บาท ระหว่างระยะเวลาตามสัญญาซื้อขายก๊าซ จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของตนเองและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โดยแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องจำเลยสำหรับหนี้เบี้ยปรับที่จำเลยค้างชำระระหว่างวันที่ 27 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2548 จำนวนเงิน 2,433,190.26 บาท ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนจนถึงก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/13 ประกอบมาตรา 90/12 (4)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ในประเด็นดังกล่าวศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จึงสิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ แต่โจทก์ยังคงมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 จึงถือว่าโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 46 (9) และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.2540 มาตรา 4 กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าว่าต่างและแก้ต่างคดีแทนโจทก์ได้ การว่าต่างและแก้ต่างคดีแทนโจทก์จึงอยู่ในอำนาจของสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (2) พนักงานอัยการจึงมีอำนาจเข้าว่าต่างและแก้ต่างแทนโจทก์ได้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ที่จำเลยฎีกาว่า มาตรา 46 (9) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.2540 มาตรา 4 ให้อำนาจแก่สำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นหน่วยงานนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า พนักงานอัยการเป็นผู้ปฏิบัติราชการให้สำนักงานอัยการสูงสุด โดยอำนาจและหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 (เดิม) มาตรา 11 กำหนด เมื่อโจทก์แต่งตั้งพนักงานอัยการให้ทำหน้าที่ทนายความ พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (2) ซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 11 (5) ดังนั้น ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์โดยพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีนี้ เพราะพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (5) ไม่ได้ให้อำนาจไว้ด้วยเหตุต่าง ๆ จึงไม่เป็นสาระที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลเป็นให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (2) ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่นำมาฟ้องในเงินค่าก๊าซและเบี้ยปรับจากจำเลยขาดอายุความหรือไม่ สำหรับสิทธิเรียกร้องในเงินค่าก๊าซที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง…” และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี…(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า จำเลยประกอบกิจการอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายกระดาษ จำเลยซื้อก๊าซจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อนภายในโรงงานของจำเลยเพื่อผลิตกระดาษอันเป็นกิจการของจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบให้จำเลยทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยนั้นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในเงินค่าก๊าซที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) หาใช่มีกำหนดอายุความ 2 ปี ดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใดไม่ ส่วนข้อเท็จจริงที่จำเลยนำมาอ้างเป็นเหตุว่า การซื้อก๊าซจากโจทก์ไม่ใช่เป็นการที่จำเลยนำก๊าซไปเดินเครื่องจักรที่ใช้ผลิตกระดาษโดยตรง ต้องนำไปแปลงผ่านโรงผลิตไฟฟ้าก่อนจะนำไฟฟ้าที่ได้ไปเดินเครื่องจักรผลิตกระดาษ จึงไม่ใช่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ต้องนำกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 มาใช้บังคับนั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงอันเป็นข้อต่อสู้นอกเหนือคำให้การมายกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกา ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าก๊าซที่ค้างชำระภายในกำหนดอายุความ 5 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนสิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับที่จำเลยค้างชำระนั้น เมื่อสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธาน คือ ค่าก๊าซที่จำเลยค้างชำระไม่ขาดอายุความดังที่ได้วินิจฉัยมา ข้อฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าเบี้ยปรับที่จำเลยค้างชำระซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นจะต้องขาดอายุความด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/26 จึงไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ฟ้องเรียกเอาเงินค่าก๊าซและเบี้ยปรับจากจำเลยจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า เมื่อสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า แม้พฤติการณ์ที่โจทก์ปิดวาล์วก๊าซ ถือว่าโจทก์ในฐานะคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาซื้อขายก๊าซแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่กรณีก็เป็นการเลิกสัญญาเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายจากการผิดสัญญาซื้อขายก๊าซของจำเลย ซึ่งได้เกิดขึ้นและยังมีอยู่ตลอดไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยสิ้นเชิง การเลิกสัญญาดังกล่าว หาได้ทำให้สิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากจำเลยระงับไปไม่ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว และตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2538 คดีระหว่าง นายไชยเสน โจทก์ นางกาญจนา จำเลย ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซจากจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์