คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายถูกดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานผู้สอบสวนคดีได้เรียกให้ผู้เสียหายชำระเงินจำนวน 4,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 เพื่อช่วยผู้เสียหายมิให้ต้องรับโทษ จำเลยที่ 2 ชอบพอกับผู้เสียหายและไปบ้านผู้เสียหายเป็นประจำ จำเลยที่ 2 มาบอกผู้เสียหายว่าจำเลยที่ 1 ฝากถามว่ามีเงินหรือไม่ และในวันที่จำเลยที่ 1 มารับเงินที่บ้านผู้เสียหายตามนัด จำเลยที่ 2 ขี่รถจักรยานยนต์มาถึงบ้านผู้เสียหายในภายหลัง และขึ้นไปหาผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 พอดี พฤติการณ์ของจำเลยที่2 ยังไม่ประจักษ์ชัดว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมหรือช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการเรียกเงินจากผู้เสียหาย.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา149, 157, 201, 86 กับให้คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้วหลบหนีไปศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 201, 86 จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 13 ปี 4 เดือนของกลางคืนเจ้าของ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งลงชื่อในคำพิพากษารับรองว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญและอนุญาตให้ฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงของคดีฟังได้ในเบื้องต้นว่านายเหล็ง ชูขวัญ ผู้เสียหายได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น ในชั้นสอบสวนคดีที่ถูกกล่าวหาจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานผู้สอบสวนคดีได้เรียกให้ผู้เสียหายชำระเงินจำนวน 4,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 เพื่อช่วยผู้เสียหายมิให้ต้องรับโทษในคดีที่ถูกกล่าวหาคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวหาหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายว่าหลังจากผู้เสียหายได้รับหมายเรียกจากจำเลยที่ 1 ให้ไปที่สถานีตำรวจอำเภอบางแพเพื่อสอบปากคำในเรื่องที่ถูกนายพิมพ์และนางสาวชื่นกล่าวหาดังกล่าวแล้ว ผู้เสียหายได้ไปพบจำเลยที่ 1 และให้การปฏิเสธข้อหาจำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้ประกันตัวไปโดยผู้เสียหายได้นำเงินสดจำนวน8,000 บาท เป็นค่าประกันตัวมาชำระให้จำเลยที่ 1 ภายหลังหลังจากนั้นต่อมานายหรีด ชูขวัญ ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นน้องผู้เสียหายมาบอกผู้เสียหายว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าถ้าจะให้ช่วยคดีให้นำเงิน 80,000 บาท ไปให้เจ้าทุกข์ในคดีและอีก 14,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 ผู้เสียหายตอบปฏิเสธไปว่าไม่มีเงินและยอมถูกดำเนินคดีต่อมาจำเลยที่ 1 ให้ผู้เสียหายไปพบที่บ้านแล้วสอบถามเรื่องเงินอีกซึ่งผู้เสียหายคงปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่มีหลังจากนั้นผู้เสียหายถูกส่งตัวไปฟ้อง แต่อัยการไม่รับตัวไว้บอกให้ไปเสียค่าปรับที่โรงพักจำเลยที่ 1 จึงนัดหมายให้ผู้เสียหายไปพบที่โรงพักใหม่ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 ก่อนถึงวันดังกล่าวประมาณ 4-5 วัน จำเลยที่ 2 ได้มาบอกผู้เสียหายที่บ้านว่าจำเลยที่ 1 ให้ฝากถามมาว่ามีเงินไหม ผู้เสียหายตอบไปว่าไม่มี ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มาหาผู้เสียหายที่บ้านและบอกแก่ผู้เสียหายว่าจะขอเงินเพียง 4,000 บาท ผู้เสียหายจึงตอบไปว่าถ้าได้เงินแล้วจะไปบอก หลังจากนั้นผู้เสียหายจึงได้เดินทางเข้ามาพบนายเบ้งหลานชายที่กรุงเทพมหานครซึ่งได้นำผู้เสียหายไปแจ้งเรื่องต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานป.ป.ป.ตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวแสดงว่าผู้ที่มาติดต่อในเรื่องที่จำเลยที่1 เรียกเงินคือนายหรีดไม่ใช่จำเลยที่ 2 ซึ่งตามรูปการณ์ก็สมเหตุสมผลที่ว่านายหรีดเป็นน้องของผู้เสียหายและมีบ้านอยู่ใกล้กัน ทั้งก็เป็นเจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่ในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านจึงน่าจะรู้จักกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่เดียวกัน คำเบิกความของนายหรีดพยานโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มาติดต่อกับตนก่อนในเรื่องที่จำเลยที่ 1ต้องการเรียกเงินเพื่อช่วยเหลือเรื่องคดีของผู้เสียหายและตนเป็นผู้พาจำเลยที่ 1 ไปพบผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 เป็นคนบอกผู้เสียหายเองว่าจำเลยที่ 1 ใช้ให้มาเอาเงิน 4,000-5,000 บาทซึ่งแตกต่างจากคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าว จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่น่าเชื่อการที่จำเลยที่ 2 มาบอกผู้เสียหายในเวลาต่อมาว่าจำเลยที่ 1 ฝากถามว่ามีเงินหรือไม่นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นเงินค่าอะไร หากจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 เรียกเงินจากผู้เสียหายจริง ผู้เสียหายก็น่าจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานป.ป.ป.ทราบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ด้วย แต่ผู้เสียหายก็มิได้กระทำเช่นนั้น ทั้งยังเบิกความรับว่าจำเลยที่ 1 นัดให้ไปพบในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 เมื่อจำเลยที่ 2 พาไปพบจำเลยที่1 ในวันดังกล่าว จำเลยที่ 1 เรียกเงินค่าปรับเป็นเงิน 300 บาทหลังจากชำระค่าปรับแล้วผู้เสียหายจึงนัดจำเลยที่ 1 ให้ไปเอาเงินที่บ้านในตอนเย็นวันเดียวกัน คำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวจึงเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ที่ว่าในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ใช้ให้ไปบอกผู้เสียหายว่าให้นำเงินค่าปรับไปชำระ จำเลยที่ 2 จึงพาผู้เสียหายซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปสถานีตำรวจ แม้จำเลยที่ 2 จะถูกจับกุมที่บ้านผู้เสียหายพร้อมกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ได้ความจากผู้เสียหายและบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 ว่าจำเลยที่ 2 ชอบพอกับผู้เสียหายและไปบ้านผู้เสียหายเป็นประจำในวันดังกล่าวจำเลยที่ 2 มิได้ไปบ้านผู้เสียหายพร้อมกับจำเลยที่ 1 แต่ขี่รถจักรยานยนต์มาถึงภายหลังและขึ้นไปหาผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 พอดีจำเลยที่ 2 ไม่ได้พูดอะไรก็ถูกจับกุม และได้ให้การปฏิเสธตลอดมา เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ตามที่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวยังไม่ประจักษ์ชัดว่าจำเลยที่ 2มีส่วนร่วมหรือช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการเรียกเงินจากผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 อาจจะไปหาผู้เสียหายและรู้เห็นการส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 โดยบังเอิญตามที่นำสืบต่อสู้ก็ได้พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวหา ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดในฐานะผู้สนับสนุน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น’
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.

Share