แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ กับโจทก์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2537 และจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2537 แม้มิใช่เป็นการดำเนินการเพื่อเวนคืนโดยอาศัย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน.. พ.ศ. 2530 แต่การดำเนินการดังกล่าวอยู่ในระหว่างเวลาบังคับใช้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
พ.ศ. 2535 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับหลังนี้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ที่จะต้องเวนคืนจากโจทก์และจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ กับโจทก์ โดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน.. พ.ศ. 2535 การดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์จึงเป็นการดำเนินการโดยอาศัย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
พ.ศ. 2535 และไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนจึงต้องคำนึงถึงมาตรา 21 (1) ถึง (5) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 คือต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
พ.ศ. 2535 คือวันที่ 29 สิงหาคม 2535
โจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2537 ดังนั้น ฝ่ายจำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซึ่งก็คือวันที่ 15 พฤษภาคม 2537 ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว ไม่ใช่คิดจากวันรับเงินค่าทดแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 45,383,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 42,840,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,499,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 7,140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 แก่โจทก์และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 104534 เลขที่ดิน 1480 แขวงห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทั้งแปลงอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 มีอายุ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2535 และอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาธร เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผลให้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 ด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า การกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ของฝ่ายจำเลยถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนภายในระยะเวลาที่ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
พ.ศ. 2530 มีผลบังคับใช้โดยนำเอาราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อใช้ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2535 มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดราคาค่าทดแทน ซึ่งมีผลใช้บังคับถึง 5 ปี ดังนั้น ราคาค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดให้โจทก์ตารางวาละ 60,000 บาท จึงถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว จะถือว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
พ.ศ. 2535 หาได้ไม่ เห็นว่า พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
พ.ศ. 2530 ได้สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2535 ฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ย่อมสิ้นสุดลงไปด้วย ที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ กับโจทก์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2537 และจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2537 มิใช่เป็นการดำเนินการเพื่อเวนคืนโดยอาศัย พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
พ.ศ. 2530 แต่การดำเนินการดังกล่าวอยู่ในระหว่างเวลาบังคับใช้ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
พ.ศ. 2535 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับหลังนี้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนจากโจทก์และจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ตามลำดับได้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ กับโจทก์และการจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
พ.ศ. 2535 การดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์จึงเป็นการดำเนินการโดยอาศัย พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
พ.ศ. 2535 และเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนจึงต้องคำนึงถึงมาตรา 21 (1) ถึง (5) แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 คือต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
พ.ศ. 2535 คือวันที่ 29 สิงหาคม 2535
อนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2537 ดังนั้น ฝ่ายจำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาดังกล่าวซึ่งก็คือวันที่ 15 พฤษภาคม 2537 ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 ยังไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 3,570,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดนับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.