คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างจึงอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง
จำเลยมีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างก่อนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2541 อันเป็นวันจ่ายค่าจ้าง ตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยอาจกำหนดให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่เมื่อจำเลยแสดงเจตนาในหนังสือเลิกจ้างกำหนดให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 กันยายน 2541 ก็ย่อมทำได้ และถือว่าการเลิกจ้างมีผลในวันดังกล่าวตามเจตนาของจำเลยแล้วตามมาตรา 118 วรรคสองแต่จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จนถึงวันที่ 30กันยายน 2541 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคสองและพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่
เมื่อการเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 โจทก์ซึ่งเข้าทำงานเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 ทำงานถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2541 รวมอายุงานได้ 2 ปี 11 เดือน 27 วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานการเงิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ19,080 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม2541 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยกำหนดให้มีผลเป็นการเลิกจ้างนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 โดยโจทก์ไม่มีความผิด การบอกเลิกจ้างดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างเป็นการล่วงหน้าจะมีผลบังคับถือว่าเป็นการเลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างเมื่อถึงกำหนดการจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างในคราวถัดไป การเลิกจ้างโจทก์จึงมีผลบังคับหรือสิ้นสุดการจ้างในวันที่ 30 กันยายน 2541 มิใช่ วันที่ 1 กันยายน 2541ตามเจตนาของจำเลย โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1 เดือน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 19,080 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าชดเชยเป็นเงิน 114,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 19,080 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องและค่าชดเชยเป็นเงิน 57,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 1 กันยายน 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2541 กำหนดให้มีผลนับแต่วันที่ 1 กันยายน2541 เป็นต้นไปไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582ซึ่งจะมีผลเลิกจ้างในวันจ่ายจ้างคราวถัดไปคือวันที่ 30 กันยายน 2541 รวมระยะเวลาทำงานที่โจทก์เริ่มเข้าทำงานเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 จนถึงวันที่ 30 กันยายน2541 เกินกว่า 3 ปี จึงมีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน114,480 บาท มิใช่ได้เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 57,240 บาทตามที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้น ข้อเท็จจริงคดีนี้รับฟังได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 17 วรรคสอง จำเลยมีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน แล้วจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างก่อนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2541 อันเป็นวันจ่ายค่าจ้าง ตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยอาจกำหนดให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 30 กันยายน2541 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่เมื่อจำเลยแสดงเจตนาในหนังสือเลิกจ้างกำหนดให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 กันยายน 2541 ก็ย่อมทำได้ และถือว่าการเลิกจ้างมีผลในวันดังกล่าวตามเจตนาของจำเลยแล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสองเพียงแต่จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จนถึงวันที่ 30กันยายน 2541 เท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคสองและพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่ ซึ่งศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อการเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน2541 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเข้าทำงานเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 ทำงานถึงวันที่ 31 สิงหาคม2541 รวมอายุงานได้ 2 ปี 11 เดือน 27 วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (2)

พิพากษายืน

Share