คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3959/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลย แต่ยังจดทะเบียนโอนกันไม่ได้เพราะผู้เช่าที่ดินพิพาทคัดค้าน โจทก์จำเลย ตกลงกัน ให้จำเลยจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์เพื่อนำเงินไปไถ่ การขายฝากที่ดินพิพาทจาก จ. และให้จำเลยไปดำเนินการฟ้องขับไล่ ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาทก่อนแล้วจำเลยจะจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่อไปเมื่อคู่กรณีเจรจาตกลงกันเช่นนี้คู่กรณี ทั้งสองฝ่ายสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่ตกลงกันนั้นได้ทั้งสัญญาจำนอง และสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามเจตนาที่ตกลงกัน มิใช่ไม่สามารถ ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาจำนองอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ดังนั้น สัญญาจำนองจึงมิใช่เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท สัญญาจำนองย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าจำเลยจำนองที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์เป็นเงิน 344,000 บาทเมื่อถึงกำหนดแล้วไม่ไถ่ถอนการจำนองจึงขอให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้องพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าเดิมจำเลยขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับนายจำปีต่อมาโจทก์ทั้งสามตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยโดยจะไปไถ่ถอนการขายฝากจากนายจำปีก่อน ในระหว่างที่เจ้าพนักงานที่ดินกำลังจะจดทะเบียนการไถ่ถอนการขายฝากนั้นมีผู้เช่าที่ดินพิพาทไปคัดค้าน โจทก์จำเลยจึงตกลงกันให้จำเลยจำนองที่ดินพิพาทไว้เพื่ออำพรางสัญญาจะซื้อขายโดยให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวและตกลงกันต่อไปว่าเมื่อจำเลยฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาทแล้วจำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งสามต่อไปส่วนสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางไม่มีผลใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกไปแล้วบอกให้โจทก์มารับโอนที่ดินพิพาท แต่โจทก์ไม่ไปรับโอน จำเลยถือว่าโจทก์ผิดสัญญาจึงริบมัดจำเป็นเหตุให้โจทก์ไม่พอใจ โจทก์ไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายเป็นเงิน16,650 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ขอให้ขับไล่โจทก์ทั้งสามออกจากที่ดินของจำเลยห้ามเกี่ยวข้องและให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายตามฟ้องให้แก่จำเลย

โจทก์ทั้งสามให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ทั้งสามยอมรับว่าได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยและขณะนั้นที่ดินพิพาทอยู่ระหว่างขายฝากไว้แก่นายจำปีจริงในระหว่างที่กำลังดำเนินการเพื่อไถ่ถอนการขายฝากเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้น มีนายสุวรรณผู้เช่าที่ดินพิพาทคัดค้าน จำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายได้ โจทก์ทั้งสามจึงบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายแก่จำเลยพร้อมทั้งเรียกเงินมัดจำคืน และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จำเลยได้ขอกู้เงินโจทก์ 344,000บาทเพื่อนำเงินไปไถ่ถอนการขายฝากโดยจำนองที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์จึงได้ฟ้อง จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลย

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินพิพาทด้วยความสมัครใจโดยเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมายพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้องพร้อมทั้งดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาจำนองมิได้อำพรางนิติกรรมสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเพราะเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกันไปแล้ว แต่ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยและโจทก์ทั้งสามเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อจำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยปีละ 5,400 บาท พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยปีละ 5,400 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามหรือไม่นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบฟังได้ว่าในวันที่8 กรกฎาคม 2520 โจทก์ทั้งสามและจำเลยพร้อมด้วยทนายความของทั้งสองฝ่ายไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม เพื่อจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามตามสัญญาจะซื้อขายและในขณะเดียวกันก็จดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทจากนายจำปีด้วย แต่ในระหว่างที่กำลังยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนอยู่นั้นได้มีนายสุวรรณมาร้องคัดค้านว่าตนเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งมีสิทธิที่จะซื้อที่ดินพิพาทก่อน จึงตกลงจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันไม่ได้ ต่อจากนั้นโจทก์ทั้งสามได้เจรจาหารือกัน แล้วตกลงให้จำเลยจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน344,000 บาท เพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทจากนายจำปีไว้ก่อนและให้จำเลยไปดำเนินการฟ้องขับไล่นายสุวรรณออกจากที่ดินพิพาทเสียก่อนแล้วจำเลยจะจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามต่อไปศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อคู่กรณีเจรจาตกลงกันเช่นนี้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงกันนั้นได้ ทั้งสัญญาจำนองและสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามเจตนาที่ตกลงกัน มิใช่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาจำนองอย่างหนึ่งอย่างใดได้ดังนั้น สัญญาจำนองจึงมิใช่เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท สัญญาจำนองย่อมมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share