แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ว่า โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาก่อน สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่มิได้ให้การต่อสู้ไว้ดังกล่าวจึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดีที่จะรับวินิจฉัย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน มีผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ไม่มีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391,392 และ 369 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบโดยยังครอบครองใช้ประโยชน์ตลอดมา โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตามโจทก์รับมาในคำแก้อุทธรณ์ ซึ่งศาลชั้นต้นรับไว้เป็นคำแถลงการณ์ว่า จำเลยที่ 1 นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระให้แก่โจทก์อีกบางส่วน ดังนั้น จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องพึงชดใช้ให้แก่โจทก์ด้วย และค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ให้แก่โจทก์เป็นมูลหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกชำระหนี้กันได้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อกับจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน จึงให้คำพิพากษามีผลไปถึงจำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกัน ซึ่งต้องรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ราคา3,600,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 ยังครอบครองใช้รถของโจทก์ต่อไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 1,541,667 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 50,000 บาทนับแต่ถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะคืนรถยนต์แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์จริง แต่ไม่เคยผิดสัญญาเพราะจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ทุกงวด โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยึดถือวันเวลาตามที่ตกลงในสัญญาเช่าซื้อ เพราะบางครั้งจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าหลายงวด และบางครั้งโจทก์ก็ยอมให้จำเลยที่ 1 ค้างชำระหลายงวดแล้วรวมชำระครั้งเดียวโจทก์ไม่เคยประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์มาก่อน แต่มาเรียกค่าเช่าจากจำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกต้องความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 อีกทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นเกินความเสียหายอันแท้จริงที่โจทก์ได้รับ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน371,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 1 พฤษภาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 12,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนแก่โจทก์ แต่ไม่เกิน 6 เดือน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อซูมิโตโม่หมายเลขเครื่องยนต์ 6 บีดี 1 – 741346 ไปจากโจทก์ ราคา 3,600,000 บาท จำเลยที่ 1ชำระเงินในวันทำสัญญา 400,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรวม 24 งวดงวดละเดือน เดือนละ 134,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 21 เป็นต้นมา โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกมีว่า…เห็นว่า โจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อหลายงวดติดต่อกันเป็นการผิดสัญญา โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 และโจทก์ก็นำพยานหลักฐานเข้าสืบโดยจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบหักล้าง จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหลายงวดติดต่อกันและโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวโดยชอบแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การเพียงว่า จำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ทุกงวด ไม่เคยผิดสัญญาเช่าซื้อโดยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ว่า โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาก่อนสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในเรื่องนี้จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดีที่จะรับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการที่สองมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์จนครบถ้วนตั้งแต่งวดที่ 20 เป็นต้นมา จนกระทั่งวันที่ 23 กันยายน 2540โจทก์จึงมีหนังสือให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างพร้อมดอกเบี้ยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับหนังสือดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยมีผลเลิกสัญญา ณ วันที่ครบกำหนด 15 วันดังกล่าว ซึ่งตามหลักฐานใบตอบรับจำเลยที่ 1 รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนภายใน 15 วัน สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวเลิกกันแล้ว ย่อมมีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ไม่มีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กัน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 และมาตรา 392 บัญญัติว่า การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369 กล่าวคือ ให้นำมาตรา 369 ว่าด้วยการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยยังคงครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวตลอดมา ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ประจำงวดที่ 21 ตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม2538 ตามการ์ดบัญชีรายการชำระเงิน ย่อมทำให้โจทก์เสียหายจึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ทรัพย์ของโจทก์มาตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1ครอบครองทรัพย์ คือตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2538 เป็นต้นมา เพื่อชดเชยเป็นค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม สำหรับค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตลอดเวลาที่ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ12,000 บาท นับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2538 ถึงวันฟ้องวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 รวมเป็นเงิน 371,200 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 12,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์แต่ไม่เกิน 6 เดือนนั้น นับว่าเป็นค่าเสียหายจำนวนที่เหมาะสมตามสมควรแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ตามความปรากฏดังที่โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์เกินกำหนดเวลาซึ่งศาลรับไว้เป็นคำแถลงการณ์โดยโจทก์รับว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม2540 จำเลยที่ 1 นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระให้แก่โจทก์อีก ซึ่งตามหลักฐานเอกสารหมาย 2ท้ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 80,000 บาท ดังนั้น จึงต้องนำเงินจำนวน 80,000บาท ที่โจทก์รับเป็นค่าเช่าซื้อมาหักออกจากจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องพึงชดใช้ให้แก่โจทก์ด้วย และค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์เป็นมูลหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกชำระหนี้กันได้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อกับจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน จึงให้คำพิพากษานี้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมที่มิได้ฎีกาด้วยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 371,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ12,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ แต่ไม่เกิน6 เดือน โดยให้หักเงินจำนวน 80,000 บาท ซึ่งโจทก์รับชำระจากจำเลยที่ 1 ไปแล้วออกเสียก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ