แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งกระทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และไม่ใช่การฟ้องคดีละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3252 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537, 28 พฤษภาคม 2546 และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนที่ดินเฉพาะส่วนแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 130 ตารางวา และให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบค่าฤชาธรรมเนียมในการโอน หากจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะร่วมกันหรือแทนกันชำระให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3252 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 และระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งได้จดทะเบียนการโอนให้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งได้จดทะเบียนขายฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครองคนละ 129 ตารางวา มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางสาววรรณา ทายาทของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3252 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537, 28 พฤษภาคม 2546 และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เพื่อให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 130 ตารางวา ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของนายโพล้ว ผู้ตาย และตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วน เมื่อนายโพล้ว ผู้ตายถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่ขาดอายุความ 5 ปี ตามมาตรานี้ และไม่ใช่การฟ้องคดีละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 ด้วย คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการต่อมาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3252 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 และระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งจดทะเบียนโอนเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งจดทะเบียนโอนเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 หรือไม่ เห็นว่า นายโพล้ว ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกของนายโพล้วผู้ตายจึงตกเป็นของทายาทโดยธรรมซึ่งคือบุตรทั้งห้า ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ด้วย การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3252 ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นอีก 4 คน ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสองด้วย ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนกองมรดกไป 2 ครั้ง เป็นเงินรวม 62,000 บาท แต่จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1ชำระไปน้อยกว่าราคาที่ดินมรดกของผู้ตายมาก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำที่ดินมรดกตีใช้หนี้จำเลยที่ 1 ได้ ส่วนที่เจ้ามรดกกู้เงินมาเพื่อให้บุตรหรือบุตร จำเลยที่ 1 ใช้จ่ายก็ไม่ทำให้หนี้ของกองมรดกกลายเป็นหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงยังเป็นเจ้าหนี้กองมรดกและมีสิทธิให้โจทก์ทั้งสองเฉลี่ยรับภาระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ชำระแทนกองมรดกไป คนละ 62,000 บาท หารด้วย 5 เป็นเงินคนละ 12,400 บาท ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินมรดกที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับคนละ 129 ตารางวา แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมาย ที่จะใช้ยันแก่โจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 คนละ 12,400 บาท ก่อน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ