แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งการให้มีการถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้านเนื่องจากโจทก์ทั้งสองถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 และปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้นที่จะมีอำนาจถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้านได้แสดงชัดว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ส่วนที่โจทก์กล่าวในฟ้องถึงจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเขตจังหวัดนั้นมาด้วยแม้จะเป็นตำแหน่งที่ไม่มีในกฎหมาย ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเสียไป และการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนท้องถิ่นทราบว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้สัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 และสั่งให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามระเบียบ จำเลยที่ 2 จึงได้ดำเนินการถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้าน ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เช่นนี้แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนก็ไม่ทำให้กลายเป็นไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ไปไม่.
โจทก์ทั้งสองมีมารดาเป็นคนญวนอพยพ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามความหมายของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราวโจทก์ที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2501 และโจทก์ที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2503 ในขณะที่โจทก์ทั้งสองเกิดไปปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย มารดาของโจทก์ทั้งสองเพิ่งจดทะเบียนสมรสกับ ส.ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยและโจทก์อ้างว่าเป็นบิดาของโจทก์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2504 ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุมารดาโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว และไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทย จึงถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 แล้ว แม้ภายหลังที่โจทก์ทั้งสองเกิด โจทก์ทั้งสองจะมีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ ส.ก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์ทั้งสองเกิดสิทธิที่จะได้สัญชาติไทยไม่ และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 เมื่อโจทก์ทั้งสองถูกถอนสัญชาติไทยดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสองลงในทะเบียนราษฎร์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ที่ ๑ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๐๑ โจทก์ที่ ๒ เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๓ เป็นบุตรของนายสุพรรณคนสัญชาติไทย กับนางเหมา คนญวนอพยพ ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว แต่งงานกันในปี ๒๔๙๙ บิดามารดาได้แจ้งเพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสองเข้าในทะเบียนบ้าน ต่อมาบิดามารดาโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๔ จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ในการปกครองรักษาความมั่นคงภายในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ควบคุมดูแลกิจการญวนอพยพในเขตจังหวัด สั่งให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรเทศบาลเมืองอุบลราชธานี ถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้านอ้างว่าโจทก์ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านข้างต้นโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายสุพรรณ คนสัญชาติไทย จึงไม่ถูกถอนสัญชาติไทย ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นคนสัญชาติไทย และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสองลงในทะเบียนบ้าน
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองโจทก์ทั้งสองถูกเพิกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ แล้ว จำเลยทั้งสองเพียงปฏิบัติตามกฎหมาย จึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองมีสัญชาติไทย ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องนายบุญช่วย ศรีสารคาม จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ได้สั่งการให้มีการถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้าน เนื่องจากโจทก์ทั้งสองถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ และปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้นที่จะมีอำนาจถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้านได้ แสดงชัดว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น ส่วนที่โจทก์กล่าวในฟ้องถึงจำเลยที่ ๑ ในฐานะเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเขตจังหวัดอุบลราชธานีมาด้วย แม้จะเป็นตำแหน่งที่ไม่มีในกฎหมายดังจำเลยทั้งสองฎีกาก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเสียไป จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมาว่า การที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติการเกี่ยวกับสัญชาติของโจทก์เป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผน จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่าการที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๒ทราบว่า โจทก์ทั้งสองและบุตรทุกคนของนายสุพรรณ ศรีธัญรัตน์ ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ และสั่งให้จำเลยที่ ๒ ดำเนินการถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ ๖๓ – ๖๕ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ตามระเบียบซึ่งจำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติ ตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนก็ไม่ทำให้กลายเป็นไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ไปไม่ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมาว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองก็ย่อมถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวด้วยปัญหานี้เห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวบัญญัติว่า ‘ให้ถอนสัญชาติไทยของบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะเกิดบิดามารดานั้นเป็น
(๑)…………
(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวหรือ
(๓)…………’บทบัญญัติดังกล่าวแปลความหมายได้ว่า หากโจทก์ทั้งสองปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ทั้งสองย่อมไม่ถูกถอนสัญชาติไทยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกา แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ทั้งสองมีมารดาคือนางเหมาหรือลัดดาเป็นคนญวนอพยพ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามความหมายของประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว ในขณะที่โจทก์ทั้งสองเกิดไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ความตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ที่ ๑ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๐๑ และโจทก์ที่ ๒ เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม๒๕๐๓ แต่นางเหมาหรือลัดดาเพิ่งจดทะเบียนสมรสกับนายสุพรรณ ศรีธัญรัตน์ ซึ่งโจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นบิดาโจทก์เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๔ ดังนั้นในขณะเกิดมารดาโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว และไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทยจึงถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ แล้ว แม้ภายหลังที่โจทก์ทั้งสองเกิด โจทก์ทั้งสองจะมีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายคือนายสุพรรณ ศรีธัญรัตน์ ก็ตามก็หาทำให้โจทก์ทั้งสองเกิดสิทธิที่จะได้สัญชาติไทยไม่ แม้ปัญหาหลังนี้ จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ฎีกาก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสองลงในทะเบียนราษฎร์ตามฟ้องได้
พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง