แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตามมาตรา 147 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นเรื่องบัญญัติเอาผิดแก่เจ้าหน้าที่ที่เบียดบังเอาทรัพย์ที่ตนได้มาหรือถือไว้เพื่อจัดการตามหน้าที่ ไม่ใช่เอาผิดแต่เฉพาะว่าทรัพย์นั้นจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของทางการหรือของใคร
การที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่า จำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินผลประโยชน์ของการรถไฟฯ ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยยักยอกเงินที่ไม่ใช่เป็นเงินผลประโยชน์ของทางการรถไฟฯโดยแท้ ดังนี้ ไม่เป็นกรณีที่ทางพิจารณาได้ความต่างกับฟ้องอันจำเป็นที่ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานของการรถไฟฯ เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับถุงเมล์ เก็บรักษาถุงเมล์ ไปรษณีย์เอกสารต่าง ๆ ตลอดจนรับเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ ของการรถไฟฯซึ่งส่งมาทางขบวนรถไฟ จำเลยจะต้องนำเงินที่รับดังกล่าวส่งหัวหน้ากองจัดการเดินรถเขต ๒ นครราชสีมา จำเลยได้รับเงินผลประโยชน์ของการรถไฟฯ จากสารวัตรเดินรถอุบลราชธานี ซึ่งส่งโดยทางรถไฟจำนวน ๑๐๐ บาท เพื่อนำส่งหัวหน้ากองจัดการเดินรถเขต ๒ นครราชสีมาแล้วได้ทุจริตเบียดบังยักยอกเอาเงินผลประโยชน์ของการรถไฟฯ จำนวน๑๐๐ บาท ซึ่งอยู่ในความครอบครองจัดการดูแลรักษาของจำเลยดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๗, ๓๕๒ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔มาตรา ๑๘
จำเลยให้การปฏิเสธว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์เงิน ๑๐๐ บาทตามฟ้องไม่ใช่เป็นเงินผลประโยชน์ของการรถไฟฯจำเลยถูกตัดเงินเดือนลงโทษตามพระราชบัญญัติการรถไฟฯ แล้ว คดีจึงระงับ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยได้เบียดบังเอาเงิน ๑๐๐ บาทที่นายสงวนส่งมาทางรถไฟและอยู่ในหน้าที่ของจำเลยจะต้องเก็บรักษาเอาไว้เป็นของจำเลยเสียเอง บทมาตรา ๓๕๒ ที่ โจทก์ขอให้ลงโทษเป็นความผิดอันยอมความได้ ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดบทนี้ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๗ ให้จำคุกจำเลย ๕ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เงิน ๑๐๐ บาทหนี้เป็นเงินส่วนตัวของนายสงวนส่งมาให้หัวหน้ากองจัดการเดินรถเขต ๒ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อจะได้รวบรวมส่งไปสมทบทุนพระราชกุศลตามคำเชิญชวนจากกองอำนวยการเดินรถเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่หน้าที่ของการรถไฟ แต่ตามคำฟ้องโจทก์ว่าเป็นเงินผลประโยชน์ของการรถไฟฯ ข้อเท็จจริงทามที่ปรากฏจากการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ต้องยกฟ้องพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้รับเอกสารและเงินในซองเอกสารนั้นไว้แล้ว ตั้งแต่คืนวันที่ส่งเอกสารและเงินนั้นมา แล้วจำเลยได้เปิดซองเอกสารเอาเงินนั้นไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ได้จัดการเอาส่งให้แก่ผู้จะพึงได้รับตามหน้าที่ของจำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานจัดการนำส่ง
การที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานของสถานีรถไฟ มีหน้าที่รับถุงเมล์และเอกสารทางการรถไฟ และเงินที่ส่งมาเป็นทางการรถไฟ เพื่อจัดการเอาไปส่งให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับนั้น เมื่อจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินที่ส่งมาในซองเอกสารที่รับไว้นั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัวจำเลยเสีย จำเลยก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ ดังที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนั้นได้เพราะจำเลยได้รับซองเอกสารและเงินในซองไว้เพื่อจัดการตามหน้าที่แม้ความจริงเบื้องหลังของเงินนั้นจะไม่ใช่เป็นเงินผลประโยชน์ของทางการรถไฟโดยแท้ก็ดี แต่ความผิดตามมาตรา ๑๔๗ นี้ ก็เป็นเรื่องบัญญัติเอาผิดแก่เจ้าหน้าที่ที่เบียดบังเอาทรัพย์ที่ตนได้มาหรือถือไว้เพื่อจัดการตามหน้าที่ไม่ใช่เอาผิดแต่เฉพาะว่าทรัพย์นั้นจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของทางการหรือของใครจึงจะผิดได้ และการที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินผลประโยชน์ของการรถไฟฯ ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยยักยอกเอาเงินตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่เป็นกรณีที่ทางพิจารณาได้ความต่างกับฟ้อง อันจำเป็นที่ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ เพราะเป็นเงินรายที่สารวัตรเดินรถอุบลราชธานีส่งมาเมื่อไรจำเลยรับไว้เมื่อไรดังที่โจทก์กล่าวไว้ชัดในฟ้องนั่นเอง มีปัญหาอยู่บ้างในการที่ฟ้องไปเรียกชื่อเอาเงินนั้นว่าเป็นเงินผลประโยชน์ของการรถไฟฯกรณีผิดพลาดเพียงเท่านั้นไม่ใช่เป็นการพิจารณาแล้วได้ความแตกต่างจากฟ้อง ทั้งมีเหตุผลที่พอจะถือได้ว่าตัวเงินนั้นกำลังเป็นเงินของทางการรถไฟฯ ได้อยู่เพราะตัวเจ้าหน้าที่ทางการรถไฟได้ยึดถือเอาส่งมายังเจ้าหน้าที่ของทางการรถไฟอย่างเป็นเงินของทางการรถไฟฯ แล้วจำเลยได้ทำการยักยอกเอาในระหว่างที่มีการยึดถืออยู่ในฐานะนั้นด้วย
ศาลฎีกาจึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยมีความผิดให้ลงโทษดังที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาไว้แล้วนั้น