คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1951/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่ามีหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ทุกเดือน และในระหว่างผ่อนชำระโจทก์จะไม่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบไม่อาจบังคับชำระหนี้ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับเอาชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ยังไม่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่ผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์นั้น ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 สามารถทำนิติกรรมใดอันจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการฉ้อฉล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดลขที่ 68573 ตำบลบางรักพัฒนา (บางแพรก) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามข้อตกลงหย่า โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบในการเลี้ยงดูบุตร เป็นการกระทำที่พอสมควรและชอบด้วยเหตุผล ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 68573 ตำบลบางรักพัฒนา (บางแพรก) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเฉพาะส่วนระหว่างจำเลยทั้งสองที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล
โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 135221 ตำบลบางกะปิ ลาดพร้าวฝั่งเหนือ อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายธรรมวัฒน์ ในราคา 3,000,000 บาท จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์ 90,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าภาษีอากรรวมทั้งเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ 394,900 บาท ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับภาษีธุรกิจเฉพาะและขอชำระภาษีบางส่วนตามแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ คำร้องของดเบี้ยปรับภาษีธุรกิจเฉพาะ และใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร วันที่ 15 พฤษภาคม 2545 โจทก์มีหนังสือแจ้งเตือนให้จำเลยที่ 1 นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ วันที่ 5 กันยายน 2545 จำเลยที่ 1ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ยอมรับว่าเป็นหนี้ภาษีอากร 394,900 บาท ได้ชำระแล้วบางส่วน ปัจจุบันค้างชำระ 191,400 บาท จำเลยที่ 1 ขอชำระภาษีบางส่วนเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ตามสำเนาคำให้การ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าภาษีอากรเดือนละ 1,100 บาท วันที่ 10 ตุลาคม 2545 จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่า และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 68573 ตำบลบางรักพัฒนา (บางแพรก) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 20 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาตามสำเนาโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 2 เป็นการฉ้อฉลหรือไม่ จำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินและไม่มีเงินฝากธนาคาร จำเลยที่ 1 ไม่มีรายได้ เห็นว่า จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีอากรที่ค้างชำระแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ทุกเดือน และในระหว่างผ่อนชำระโจทก์จะไม่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบไม่อาจบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์อีกต่อไป เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินที่โจทก์จะบังคับเอาชำระหนี้ได้ การที่โจทก์จะไม่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์นั้นไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมใดอันจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรต่อไป การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการฉ้อฉล ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share