แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4(2) บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า เครื่องกระสุนปืนหมายความรวมตลอดถึงลูกระเบิดด้วย ฉะนั้น ลูกระเบิดตามสภาพจึงเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายอยู่ในตัวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลูกระเบิดชนิดที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับเครื่องกระสุนปืนหรือไม่ก็ตาม
ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีลูกระเบิดซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 แม้ไม่บรรยายฟ้องว่าลูกระเบิดที่จำเลยมีไว้ในความครอบครองเป็นเครื่องกระสุนปืนที่จำเลยใช้กับอาวุธปืนที่ตนไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ก็ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารจำนวน 1 ลูก ซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพกติดตัวไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 3 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ปรับ 100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 50 บาท ข้อหามีลูกระเบิดซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองให้ยกฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าลูกระเบิดดังกล่าวคล้ายคลึงกับเครื่องกระสุนปืน จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นเครื่องกระสุนปืนตามมาตรา 4(2) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 และแม้จะฟังว่าเป็นเครื่องกระสุนปืน โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าเป็นเครื่องกระสุนปืนที่จำเลยใช้กับอาวุธปืนที่ตนไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ประกอบด้วยมาตรา 161 ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 3 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 6 อีกกระทงหนึ่งคงจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปีรวมกับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ที่ศาลชั้นต้นปรับ 50 บาท รวมเป็นลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4(2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 3 เครื่องกระสุนปืนหมายความรวมตลอดถึงลูกระเบิดด้วย ฉะนั้น ลูกระเบิดตามสภาพจึงเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายอยู่ในตัวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลูกระเบิดชนิดที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับเครื่องกระสุนปืนหรือไม่ก็ตาม
ที่จำเลยฎีกาว่า แม้ลูกระเบิดจะเป็นเครื่องกระสุนปืน แต่พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 8 บัญญัติห้ามเฉพาะไม่ให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้เท่านั้น หาได้ห้ามเด็ดขาดทุกกรณีไม่ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าลูกระเบิดที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเป็นเครื่องกระสุนปืนที่จำเลยใช้กับอาวุธปืนที่ตนมิได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7 หาใช่มาตรา 8 ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว หาเคลือบคลุมไม่
พิพากษายืน