แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสามนั้น กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะลงโทษการกระทำของคนร้ายที่ปล้นทรัพย์ด้วยกันว่าถ้าการปล้นทรัพย์นั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสผู้กระทำความผิดทุกคนต้องรับโทษหนักขึ้น ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำร้ายหรือรู้ตัวผู้ร้ายหรือไม่ และไม่ว่าจะอยู่ร่วมกันในขณะที่มีการทำร้ายหรือไม่ เช่น มีการแบ่งหน้าที่กันทำโดยมีคนร้ายเฝ้าดูต้นทางแต่พวกที่เข้าไปปล้นทรัพย์ทำร้ายเจ้าทรัพย์ก็มีความผิดร่วมกัน แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ขาดตอนกันจึงจะเป็นเหตุลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจำเลยที่ 1 และพวกรวมทั้งหมด 6 คน วางแผนปล้นทรัพย์บ้านหลังนี้มาแต่ต้น วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปจับตัวคนรับใช้ในบ้านผู้เสียหายมัดไว้และได้รื้อค้นเอาทรัพย์สินภายในบ้านแล้วกลับไปก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 กับพวกที่เหลือรออยู่เพื่อเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายกับพวกกลับมาบ้านก็ถูกจำเลยที่ 1 กับพวกที่เหลือทำร้ายเพื่อปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อยู่ร่วมเพื่อปล้นทรัพย์ด้วยไม่ปรากฏว่าได้รออยู่นอกบ้านเพื่อดูต้นทางหรือย้อนกลับมาอีก หรือรอฟังผลยังสถานที่นัดหมายกัน ทั้งไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับบ้านที่เกิดเหตุ ทั้งผู้เสียหายกับพวกก็กลับมาหลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับไปแล้วเป็นเวลานานถึง 2-3 ชั่วโมง ไม่ต่อเนื่องกับการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันปล้นทรัพย์มาแต่ต้น การจะคาดหมายว่าหากผู้เสียหายกับพวกกลับมาและขัดขืนย่อมมีการใช้กำลังประทุษร้ายย่อมเป็นการคาดหมายที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 310, 340 วรรคสาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 5, 7, 11, 12 (1), 13, 17, 18, 62, 72, 81 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,401,900 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ให้การปฏิเสธฐานปล้นทรัพย์ ส่วนความผิดฐานกระทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 310 วรรคสอง, 340 วรรคสาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 72 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 310 วรรคแรก, 340 วรรคแรก พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 62, 81 จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานเป็นคนต่างด้าวหลบหนีออกนอกเขตควบคุม มีกำหนด 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีกำหนด คนละ 6 เดือน และฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีกำหนดคนละ 6 เดือน ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและฐานปล้นทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 วรรคสาม และลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต และจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 12 ปี ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อหา ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ในข้อหาดังกล่าวคนละกึ่งหนึ่ง ส่วนข้อหาปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานเป็นคนต่างด้าวหลบหนีออกนอกเขตควบคุม มีกำหนด 3 เดือน ฐานปล้นทรัพย์ เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีกำหนด คนละ 3 เดือน ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีกำหนดคนละ 3 เดือน ฐานปล้นทรัพย์ มีกำหนดคนละ 8 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 25 ปี 3 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 8 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามบัญชีที่ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืนรวมเป็นเงิน 1,401,900 บาท ให้แก่นางสุนันต์ ผู้เสียหาย
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสามโดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกในข้อหาอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 33 ปี 10 เดือน ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดของจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฯ ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและปล้นทรัพย์ ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาขึ้นมา ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสามหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า พยานโจทก์คือ นายสรรเสริญ นางนภาพร และนางสุนันต์ มิได้ชี้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนร้ายร่วมปล้นทรัพย์ คงมีแต่นายโชติวัติคนเดียวที่เบิกความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมเป็นคนร้าย จึงไม่น่าเชื่อถือว่านายโชติวัติจะเห็นและจำคนร้ายได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นข้อหาปล้นทรัพย์เพราะพอใจกับโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนด จำเลยที่ 2 ซื้อพระเครื่องมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนรู้จักกัน จำเลยที่ 3 บังเอิญไปพักอยู่กับจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ แต่ขอให้ลงโทษฐานรับของโจรแก่จำเลยที่ 2 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นฎีกาโต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ภาค 1 แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัสด้วยแต่อย่างใด จึงลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก และมาตรา 340 วรรคแรก เท่านั้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมเป็นตัวการในการปล้นทรัพย์และการใช้กำลังทำร้ายได้กระทำขณะที่การปล้นทรัพย์ยังไม่ขาดตอน อันเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์หาใช่ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคสอง ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 นั้น ดังนั้นการวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก หรือมาตรา 340 วรรคสาม เป็นการปรับข้อเท็จจริงเข้าสู่ข้อกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันวางแผนปล้นทรัพย์บ้านที่เกิดเหตุกับจำเลยที่ 1 และพวกอีก 3 คน โดยวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสามร่วมจับคนรับใช้มัดไว้ และเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รื้อค้นทรัพย์สินภายในบ้านได้ทรัพย์สินแล้วพากันหลบหนีไป ก่อนที่ผู้เสียหายกับพวกจะกลับมาบ้านและถูกจำเลยที่ 1 กับพวกทำร้ายผู้เสียหาย นายสรรเสริญ นางนภาพร และนายโชติวัติ เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม นั้น กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะลงโทษการกระทำของคนร้ายที่ปล้นทรัพย์ด้วยกันว่าถ้าการปล้นทรัพย์นั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสผู้กระทำความผิดทุกคนต้องรับโทษหนักขึ้น ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำร้าย หรือรู้ตัวผู้ทำร้ายหรือไม่ และไม่ว่าจะอยู่ร่วมกันในขณะที่มีการทำร้ายหรือไม่ เช่น มีการแบ่งหน้าที่กันทำโดยมีคนร้ายเฝ้าดูต้นทางแต่พวกที่เข้าไปปล้นทรัพย์ทำร้ายเจ้าทรัพย์ก็มีความผิดร่วมกัน แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ขาดตอนกันจึงจะเป็นเหตุลักษณะคดี สำหรับคดีนี้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกรวมทั้งหมด 6 คน วางแผนปล้นทรัพย์บ้านหลังนี้มาแต่ต้น วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปจับตัวคนรับใช้ในบ้านผู้เสียหายมัดไว้และได้รื้อค้นเอาทรัพย์สินภายในบ้านแล้วกลับไปก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 กับพวกที่เหลือรออยู่เพื่อเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายกับพวกกลับมาบ้านก็ถูกจำเลยที่ 1 กับพวกที่เหลือทำร้ายเพื่อปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อยู่ร่วมเพื่อปล้นทรัพย์ด้วย ไม่ปรากฏว่าได้รออยู่นอกบ้านเพื่อดูต้นทางหรือย้อนกลับมาอีก หรือรอฟังผลยังสถานที่นัดหมายกันทั้งไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับบ้านที่เกิดเหตุ ทั้งผู้เสียหายกับพวกก็กลับมาหลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับไปแล้ว เป็นเวลานานถึง 2 – 3 ชั่วโมง ไม่ต่อเนื่องกับการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันปล้นทรัพย์มาแต่ต้น การจะคาดหมายว่าหากผู้เสียหายกับพวกกลับมาและขัดขืนย่อมมีการใช้กำลังประทุษร้ายย่อมเป็นการคาดหมายที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในข้อหาปล้นทรัพย์ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1