แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของ ส. ต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ พ. โดยตกลงว่าหาก ส. ผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนสหกรณ์ออมทรัพย์ พ. โจทก์ยินยอมให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างหักเงินได้ส่งให้สหกรณ์ออมทรัพย์ พ. เพื่อชำระหนี้แทน ส. เมื่อ ส. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงหักค่าจ้างของโจทก์ซึ่งไม่เกินร้อยละ 10 ชำระหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ พ. ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าจ้าง 16,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าจ้าง 16,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (9 สิงหาคม 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานควบคุมวัตถุดิบ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,095 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน ในระหว่างทำงานนายสุรชัย สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานอูช่าสยามสตีลย์อินดัสตรีย์ จำกัด ทำสัญญากู้ยืมเงินจากสหกรณ์ โดยมีโจทก์ นายจำเนียรและนายสุรพงษ์ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของนายสุรชัยต่อสหกรณ์ ต่อมานายสุรชัยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงหักค่าจ้างของโจทก์ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2549 (ที่ถูกเป็น 2548) ถึงเดือนเมษายน 2550 และเดือนกรกฎาคม 2550 เดือนละ 700 บาท รวมเป็นเงิน 16,800 บาท ส่งให้แก่สหกรณ์ โจทก์ยังมีข้อโต้แย้งในหนี้ที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันในเรื่องจำนวนเงินที่นายสุรชัยกู้ยืมไปจากสหกรณ์ ยอดหนี้ที่นายสุรชัยค้างชำระ และลายมือชื่อของผู้รับเงินในหนังสือกู้ยืมเงินไม่เหมือนกับลายมือชื่อของนายสุรชัย แล้ววินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์มีต่อสหกรณ์เป็นหนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ เมื่อสหกรณ์ยังไม่ได้ฟ้องให้โจทก์รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยจึงไม่อาจนำหนี้ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันมาหักจากค่าจ้างของโจทก์ได้ การที่จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์ในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2548 ถึงเดือนเมษายน 2550 และเดือนกรกฎาคม 2550 เดือนละ 700 บาท รวมเป็นเงิน 16,800 บาท เพื่อนำไปจ่ายให้แก่สหกรณ์ จึงเป็นการหักค่าจ้างโดยไม่ชอบ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าจ้างที่หักแก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัย ไม่ตรงประเด็นตามข้อหาในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์โดยไม่รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ตกลงยินยอมเป็นหนังสือให้จำเลยหักเงินได้ของโจทก์เพื่อนำส่งสหกรณ์ตามสัญญาค้ำประกัน ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์หรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางนำเรื่องหนี้ของบุคคลที่โจทก์ค้ำประกันว่ายังมีข้อต่อสู้อยู่ ซึ่งมิได้เกี่ยวกับเรื่องความยินยอมของโจทก์ยกมาเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิหักค่าจ้างของโจทก์นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยไม่ตรงตามประเด็นในคำฟ้อง อีกทั้งเป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าประเด็นที่ปรากฏในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยหักค่าจ้างโจทก์เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากโจทก์เป็นการหักค่าจ้างโดยชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงาน พ.ศ.2522 มาตรา 76 หรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ตกลงว่าหากนายสุรชัยผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนสหกรณ์ โจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินได้ของโจทก์ส่งให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้แทนนายสุรชัยตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 6 ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (3) บัญญัติข้อยกเว้นให้นายจ้างมีสิทธิหักค่าจ้างของลูกจ้างชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ ในกรณีที่ได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้างได้ และการหักเงินในกรณีดังกล่าวก็ไม่เกินร้อยละ 10 ตามมาตรา 76 วรรคสอง ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิหักค่าจ้างโจทก์เพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างคืนแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง