แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำไม้เคลื่อนที่โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีใบเบิกทางกำกับจากพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39 ซึ่งการนำไม้เคลื่อนที่จะต้องมีใบเบิกทางตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39 นั้น ต้องเป็นการนำไม้เคลื่อนที่เข้าในลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 38 (1) ถึง (4) ดังนั้น เมื่อโจทก์เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำไม้กระถินเคลื่อนที่ไปตามถนนวังม่วง – พัฒนานิคม โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีใบเบิกทางกำกับเท่านั้นโดยมิได้บรรยายฟ้องข้อความตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 38 อนุมาตราใดอนุมาตราหนึ่งแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39 แม้คดีนี้จะเป็นการฟ้องด้วยวาจาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 ซึ่งไม่เคร่งครัดเรื่องฟ้องเคลือบคลุมเหมือนการบรรยายฟ้องเป็นหนังสือในคดีอาญาทั่วไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ก็ตาม แต่เรื่ององค์ประกอบความผิดนั้นยังเป็นหลักการสำคัญที่โจทก์จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนั้น เมื่อบันทึกฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 30, 39, 71 ทวิ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39, 71 ทวิ จำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ไม้กระถินและรถยนต์กระบะของกลางให้พนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า หลักการดำเนินคดีในศาลแขวงรวมทั้งการนำวิธีพิจารณาคดีในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 กำหนดวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อความสะดวกรวดเร็วไว้เป็นพิเศษ นอกเหนือจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป การพิจารณาคดีของศาลแขวงจึงแตกต่างจากคดีอาญาอื่น และเปิดโอกาสให้โจทก์ฟ้องด้วยวาจาได้ แต่การฟ้องคดีด้วยวาจาดังกล่าวแม้กฎหมายจะมิได้เคร่งครัดเหมือนกับการฟ้องด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ข้อไม่เคร่งครัดในเรื่องการบรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าว ยังคังต้องอยู่ภายใต้บังคับหลักเกณฑ์ทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 เช่น การอ้างบทความผิดตามมาตรา 158 (6) หรือการบรรยายองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย มิฉะนั้นฟ้องอาจไม่ชอบเพราะขาดองค์ประกอบความผิดได้ ดังนั้น คำฟ้องด้วยวาจาของโจทก์จึงต้องมีรายละเอียดการกระทำที่เป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตราในกฎหมายที่เป็นองค์ประกอบความผิดให้ครบถ้วน มิใช่ศาลเป็นผู้สอบถามข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่จำเลยกระทำความผิด เมื่อโจทก์ฟ้องด้วยวาจาโดยมีข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลจะบันทึกคำฟ้องโจทก์ให้ได้ใจความแห่งข้อหาไว้เป็นหลักฐานเพื่อพิพากษาคดีนั้นไป ซึ่งในความผิดฐานนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่โดยไม่มีใบเบิกทาง ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39 นั้น พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 38 บัญญัติว่า “บทบัญญัติในส่วนนี้ให้ใช้บังคับแก่กรณีการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่ (1) นำไม้หรือของป่าที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำหรือเก็บออกจากสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ไปถึงสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตแล้ว (2) นำไม้ที่ทำโดยไม่ต้องรับอนุญาตออกไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้ว (3) นำไม้หรือของป่าเข้ามาในราชอาณาจักร ไปถึงด่านศุลกากรหรือด่านตรวจศุลกากรที่นำเข้ามาแล้ว (4) นำไม้หรือของป่าที่รับซื้อจากทางราชการป่าไม้จากที่ที่ไม้หรือของป่านั้นอยู่ มาตรา 39 บัญญัติว่า “ผู้ใดนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ ต้องมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไปด้วยตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง” ตามบทบัญญัติดังกล่าว การนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ที่จะเป็นความผิดนั้นจะต้องเป็นการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งของ (1) ถึง (4) ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 และข้อเท็จจริงตามความในแต่ละอนุมาตราดังกล่าวเป็นองค์ประกอบที่เป็นข้อสำคัญแห่งความผิดดังกล่าวอีกด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องด้วยวาจาแต่เพียงว่า จำเลยนำไม้กระถินเคลื่อนที่มาตามถนนสายวังม่วง พัฒนานิคมเพื่อไปส่งที่โรงงานกระดาษ เขตอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีใบเบิกทางกำกับจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายไปด้วย โดยโจทก์ไม่ได้ระบุว่าเป็นการนำไม้เคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่ไปถึงสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรก หรือไปถึงด่านศุลกากรหรือด่านตรวจศุลกากรที่นำเข้ามาแล้ว หรือไปจากที่ที่ไม้หรือของป่านั้นอยู่ในกรณีรับซื้อจากทางราชการป่าไม้ตามมาตรา 38 (1) ถึง (4) ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน