คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการบังคับคดีได้ต่อเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยทั้งสองมอบให้ผู้อื่นนำสมุดเงินฝากของบุคคลอื่นมาวางเพื่อประกันการชำระหนี้ พร้อมคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้งดการขายทอดตลาดไปยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี กรณีจึงมิใช่เป็นการวางเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เข้าหลักเกณฑ์ของบทกฎหมายดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจงดการขายทอดตลาดได้
แม้ที่ดินของจำเลยที่ 1 จะอยู่ในย่านธุรกิจติดทางด่วนก็ตาม แต่เนื้อที่ดินมีจำนวนเพียง 72 ตารางวา ไม่น่าจะนำไปดำเนินการเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมายอันจะทำให้ที่ดินมีราคาสูงมากได้ ราคาที่ดินดังกล่าวจึงไม่น่าจะสูงกว่าราคาประเมินมากนัก การซื้อขายที่ดินของการเคหะแห่งชาติก็มิได้กระทำในช่วงเดียวกันกับการขายทอดตลาดครั้งนี้ ทั้งมีเงื่อนไขในการชำระเงินไม่เหมือนกัน ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบได้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการสมรู้ร่วมกันให้ราคาต่ำหรือไม่สุจริตแต่อย่างใด การขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน938,219.18 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 17288 แขวงทุ่งมหาเมฆ (สาธร) เขตยานนาวา (บางรัก) กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 100 ของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปในราคา 8,500,000 บาท

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินฝากประเภทฝากประจำที่ธนาคารมหานคร จำกัด สาขาศรีราชา ของนางชวรา จิตต์รัตนธรรม ไปแจ้งแก่โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า จำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินฝากดังกล่าวมาวางเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยไม่จำเป็นต้องขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 พร้อมกับแจ้งแก่โจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้ซื้อทรัพย์ว่า ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 24 กันยายน2536 หลังวันขายทอดตลาดเพียง 3 วัน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป โดยนายมงคล เปาอินทร์ เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 8,500,000 บาท ต่ำกว่าราคาที่แท้จริง 8,500,000 บาท ถือว่าโจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้ประมูลซื้อทรัพย์ กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้สั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยไม่เคยนำเงินฝากของนางชวรา จิตต์รัตนธรรมไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์ เพื่อวางเป็นการชำระหนี้ ทั้งยอดเงินตามหลักประกันที่จำเลยอ้างไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการขายทอดตลาด และจำเลยไม่นำหลักประกันมาวางศาลตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ศาลจึงสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2535 ขอให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง

ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ได้เข้าประมูลซื้อทรัพย์ด้วยความสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ราคาทรัพย์ที่ประมูลสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดิน ขอให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยนำสมุดเงินฝากธนาคารมหานคร จำกัด สาขาศรีราชา ของนางชวราจิตต์รัตนธรรมตามสำเนาสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย ร.3 มาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาประการแรกว่า เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีจักต้องงดการขายทอดตลาดหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 295 กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีได้ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดี หรือหาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจศาล สำหรับจำนวนเงินเช่นว่านี้ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่ากรณีต้องเป็นการวางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้พอชำระหนี้ แล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องถอนการบังคับคดี แต่จำเลยทั้งสองมอบให้ผู้อื่นนำสมุดเงินฝากดังกล่าวของบุคคลอื่นมาวางเพื่อประกันการชำระหนี้พร้อมคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้งดการขายทอดตลาดไปยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี กรณีจึงมิใช่เป็นการวางเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เข้าหลักเกณฑ์ของบทกฎหมายดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่งดการขายทอดตลาดนั้นชอบแล้ว ปัญหาต่อไปว่า ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ขายไปในราคา 8,500,000 บาท นั้นต่ำไปหรือไม่ เห็นว่า กรณีนี้ได้ความว่ามีการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวมา 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2535 ผู้แทนโจทก์ขอให้งดการขาย ครั้งที่ 2 มีผู้สู้ราคาสูงสุด 4,450,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีให้งดการขายเนื่องจากราคาต่ำ และครั้งนี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2536 เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้ในราคา 8,500,000 บาท นั้น กรณีมิใช่เป็นการขายครั้งแรก ทั้งครั้งที่ 2 เจ้าพนักงานบังคับคดีก็งดขายโดยอ้างว่าราคาต่ำ อันเป็นการแสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ใช้ความระมัดระวังดูแลการประมูลขายทอดตลาดทรัพย์ด้วยแล้ว และราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายก็สูงกว่าราคาประเมิน ที่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีราคาตามท้องตลาดประมาณ 30,000,000 บาท เนื่องจากอยู่ในทำเลธุรกิจติดทางด่วน และที่ดินของการเคหะแห่งชาติซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวขายให้บุคคลภายนอกในราคาตารางวาละ 272,000 บาท นั้น เห็นว่า แม้ที่ดินของจำเลยที่ 1 จะอยู่ในย่านธุรกิจติดทางด่วนก็ตาม แต่เนื้อที่ดินมีจำนวนไม่มากมีเพียง 72 ตารางวา จึงไม่น่าจะนำไปดำเนินการเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมายอันจะทำให้ที่ดินมีราคาสูงมากได้ กรณีจึงไม่น่าที่ที่ดินจะมีราคาสูงกว่าราคาประเมินมากนัก การซื้อขายที่ดินของการเคหะแห่งชาติก็มิได้กระทำในช่วงเดียวกันกับการขายทอดตลาดครั้งนี้ อีกทั้งมีเงื่อนไขในการชำระเงินไม่เหมือนกัน จึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบได้ ทั้งตามพฤติการณ์ก็ไม่ปรากฏว่ามีการสมรู้ร่วมกันให้ราคาต่ำหรือไม่สุจริตแต่อย่างใด การขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ในราคาดังกล่าวไม่ต่ำไป ทั้งเป็นการขายโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share