แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภาค 6 โจทก์ทั้งสองยังไม่มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ บ. ที่จะเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) โจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะเรียกร้องเงินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 มาแต่ต้น แม้ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์จะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ บ. ก็ตาม แต่ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด คือนับแต่ระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังฟ้องคดีแล้ว และถึงแม้ว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551 มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 1557 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทนว่า “การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด” ก็ตาม แต่ในขณะที่จำเลยมีคำสั่ง การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสองตามมาตรา 1547 นั้น กฎหมายบัญญัติให้มีผลนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลย ชอบที่โจทก์ทั้งสองจะไปดำเนินการยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จชราภาพต่อจำเลยใหม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่สั่งว่าโจทก์ทั้งสองไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญสมผู้ประกันตน จึงทำให้ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพของนายบุญสมและมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย และให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของนายบุญสม นางแย้ม ผู้ประกันตนแก่โจทก์ทั้งสองตามสิทธิที่โจทก์ทั้งสองจะพึงได้รับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค 6 ปรากฏว่านายบุญสมเป็นลูกจ้างของบริษัทถาวรฟาร์ม จำกัด และเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้จ่ายเงินสมทบเพื่อรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพมาแล้ว 51 เดือน นายบุญสมอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวรัตนาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีโจทก์ทั้งสองเป็นบุตร บิดาและมารดาของนายบุญสมเสียชีวิตแล้ว ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2547 นายบุญสมเสียชีวิตด้วยโรงตับแข็ง วันที่ 5 มกราคม 2548 โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ แต่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งประโยชน์ทดแทนว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพในวันเดียวกันนั้น โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำสั่งว่า นายบุญสมกับนางสาวรัตนามิได้จดทะเบียนสมรส นายบุญสมมิได้จดทะเบียนรับรองว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตร และศาลมิได้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายบุญสม โจทก์ทั้งสองมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญสม จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 77 จัตวา ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง ต่อมาโจทก์ทั้งสองโดยนางสาวรัตนาผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายบุญสม ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์ไต่สวนแล้วมีคำพิพากษาลงวันที่ 27 กันยายน 2548 พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายบุญสม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพของนายบุญสมหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามมาตรา 77 ทวิ ถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทน หรือผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายในหกสิบเดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้ทายาทของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ” และวรรคสองบัญญัติว่า “ทายาทผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่งได้แก่ (1) บุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นให้ได้รับสองส่วน ถ้าผู้ประกันตนที่ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน…” ตามบทบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติถึงทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพไว้โดยเฉพาะ โดยหากเป็นบุตรของผู้ประกันตนก็จะต้องมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 และมาตรา 1557 บัญญัติให้เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็จะมีผลนับแต่วันสมรส หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็จะมีผลนับแต่วันจดทะเบียน หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็จะนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานภาค 6 โจทก์ทั้งสองยังไม่มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายบุญสมที่จะเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) โจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะเรียกร้องเงินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 มาแต่ต้น แม้ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์จะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายบุญสมก็ตาม แต่ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด คือนับแต่ระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังฟ้องคดีนี้แล้ว และถึงแม้ว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2551 มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 1557 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทนว่า “การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด” ก็ตาม แต่ในขณะที่จำเลยมีคำสั่ง การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสองตามมาตรา 1547 นั้น กฎหมายบัญญัติให้มีผลนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลย โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะไปดำเนินการยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จชราภาพต่อจำเลยใหม่อีกครั้ง ดังนั้น ที่ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย และให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของนายบุญสมแก่โจทก์ทั้งสอง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะฟ้องใหม่