คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1500/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ตายทำพินัยกรรมยกตึกพิพาทให้แก่มูลนิธิปรากฏว่าเมื่อผู้ตายถึงแก่กรรมจำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกดังกล่าวจากโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตั้งแต่ก่อนโอนตึกให้แก่มูลนิธิตามพินัยกรรมกรณีเช่นนี้ถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้นโจทก์ยังมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมเพื่อจัดการมรดกตามป.พ.พ.มาตรา1719ทั้งผู้ให้เช่าก็ไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่าเมื่อผู้เช่าผิดสัญญาผู้ให้เช่าย่อมฟ้องผู้เช่าได้ กรณีผิดสัญญาเช่าจำนวนค่าเสียหายไม่จำต้องกำหนดตามอัตราค่าเช่าที่ทำกันไว้ในสัญญาเสมอไปศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งความเป็นจริงได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกพิพาท และให้จำเลยและบริวารใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 10,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะส่งมอบตึกพิพาทคืน
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินตามฟ้อง เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวได้ตกเป็นของมูลนิธิพร้า นีลวัชระ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ค่าเสียหายไม่เกินเดือนละ 200 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกพิพาทและส่งมอบคืนแก่โจทก์ พร้อมทั้งใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงคงได้ความตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่าตึกพิพาทเป็นมรดกของนางพร้า ฯ ผู้ตาย นางพร้าได้ทำพินัยกรรมยกตึกพิพาทรวมทั้งทรัพย์สินอื่นอีกหลายรายการให้แก่มูลนิธิพร้า นีลวัชระ ฯ นางพร้าถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2509ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2526 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทจากนาวาตรีสุรพล ศศะนานนท์ ร.น.และร้อยโทอรุณ ศศะนนท์ (โจทก์)ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางพร้า นีลวัชระฯ ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้นาวาตรีสุรพลได้ถึงแก่กรรมแล้ว และศาลได้มีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้า นีลวัชระ แต่ผู้เดียวฯ เห็นว่าจำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทฯ จากโจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้า นีลวัชระ จำเลย หาได้เช่าจากมูลนิธิพร้า นีลวัชระไม่ ทั้งโฉนดที่ดินซึ่งตึกพิพาทตั้งอยู่ก็ปรากฎว่ามีชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางพร้า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งยังไม่ได้โอนให้แก่มูลนิธิพร้านีลวัชระ ตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกแต่อย่างใดๆจึงต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น โจทก์มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม เพื่อจัดการมรดกดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ซึ่งหมายถึงทรัพย์มรดกที่โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยเช่าไปด้วย ผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่า เมื่อผู้เช่าผิดสัญญาผู้ให้เช่าย่อมฟ้องผู้เช่า ซึ่งเป็นคู่สัญญากับตนได้และผู้เช่าจะโต้แย้งว่าผู้ให้เช่าไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าหาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่2881/2528ฯ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
เมื่อได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องดังกล่าว และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยไม่ยอมออกจากตึกที่เช่าและส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าการกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ส่วนจำนวนค่าเสียหายนั้น เห็นว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่จำต้องกำหนดตามอัตราค่าเช่าที่ทำกันไว้ในสัญญาเสมอไป ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งความเป็นจริงได้ ตึกพิพาทเป็นตึก 5 ชั้นอยู่ติดถนนใหญ่(ถนนวรจักร) ในเขตกรุงเทพมหานครอยู่ในทำเลค้าอะไหล่รถยนต์ ค่าเช่าตามสัญญาทำไว้เดือนละ 200 บาท นับว่าต่ำเกินไปเพราะค่าของเงินบาทลดลงและค่าครองชีพสูงขึ้นอีกเป็นอันมาก เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์นับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,000 บาท และหลังจากวันฟ้องอีกเดือนละ 4,000 บาท
พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกที่เช่าฯ และส่งมอบตึกที่เช่าคืนโจทก์ ฯลฯ”.

Share