คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1948/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งได้มาโดยการบังคับจำนองขายทอดตลาด แต่ไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ โจทก์จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเป็นของโจทก์ ซึ่งการรับโอนดังกล่าวเป็นการจำหน่ายโดยวิธีอื่น ตามมาตรา 76 แห่ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 218 อันเป็นบทยกเว้นหลักการและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับแก่กรณีปกติทั่วไป การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ
ขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ต่อมาโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่บุคคลอื่นระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่ดินโฉนดเลขที่ 33516, 33538 และ 34717 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ และส่งมอบคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 18,987.12 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 96,254.16 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งคำโต้แย้งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 74 และ 76 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 6, 27, 28, 29 และ 30 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4 – 21 /2554 ว่า พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 74 ถึงมาตรา 82 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 2, 3, 4, 6, 7, 26, 27, 28, 29, 30, 40, 41, 42, 58, 75, 81, 84 (1) (2) (5), 197, 198, 211 และ 218
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่ดินโฉนดเลขที่ 33516, 33538 และ 34717 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ และส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 18,987.12 บาท และชำระค่าเสียหายเดือนละ 96,254.16 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 ธันวาคม 2550) เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สิน ออกไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจนเสร็จสิ้น กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 9,600 บาท และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 48,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เรียกโดยย่อว่า บสท. มีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้และกิจการของลูกหนี้ เดิมจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตามที่ดินโฉนดเลขที่ 33516, 33538 และ 34717 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ต่อมาโจทก์รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของลูกหนี้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รวมหนี้ของจำเลยและจดทะเบียนรับโอนสิทธิการรับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทมาเป็นของโจทก์ โจทก์มีหนังสือขอให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท แต่ไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 โจทก์ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทมาเป็นของโจทก์ ในราคา 23,101,000 บาท ซึ่งเป็นราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่าย ตามมาตรา 76 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของโจทก์ ถือเป็นการได้มาด้วยการจำหน่ายโดยวิธีอื่นตามมาตรา 76 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้บัญญัติให้การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการโอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ เห็นว่า การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทของโจทก์นั้น โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งได้มาโดยการบังคับจำนองขายทอดตลาด แต่ไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ โจทก์จึงขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทมาเป็นของโจทก์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 76 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ที่บัญญัติให้โจทก์จำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้าโจทก์เห็นว่าการจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับโจทก์และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ แม้จะถือว่าการรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวเป็นการจำหน่ายโดยวิธีอื่น แต่ก็เป็นการจำหน่ายทรัพย์สินด้วยการรับโอนมาเป็นของโจทก์ตามบทบัญญัติมาตรา 76 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 218 ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ อันเป็นบทยกเว้นหลักการและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับในกรณีปกติธรรมดาทั่วไป การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทพิพาทให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด และต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด จดทะเบียนโอนขายให้แก่นายประชา กับพวก ซึ่งนายประชากับพวกได้ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นอีกคดีหนึ่ง ตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามแปลง สำเนาคำฟ้องและคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.1486/2558 ของศาลชั้นต้นที่แนบท้ายฎีกา โจทก์ไม่ใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทอีกต่อไป โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ซึ่งโจทก์ไม่ได้แก้ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน ปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ เห็นว่า โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทมาเป็นของโจทก์โดยชอบตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2549 ดังนั้น ขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์จึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทและมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ต่อมาโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไป โจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่พร้อมเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเงิน 18,987.12 บาท และค่าเสียหายอีก เดือนละ 96,254.16 บาท จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย และเป็นการเรียกค่าเสียหายต่อเนื่องกันไป จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ 18,987.12 บาท คิดเป็นเงิน 379 บาท โดยไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอนาคต แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลและค่าขึ้นศาลอนาคตในศาลชั้นต้นมารวม 575 บาท ส่วนจำเลยเสียค่าขึ้นศาลอนาคตมาในชั้นอุทธรณ์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่ชำระเกินมาให้แก่โจทก์และจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 48,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 1 คืนค่าขึ้นศาลที่ชำระเกินมาและค่าขึ้นศาลอนาคตในศาลชั้นต้นรวม 196 บาท แก่โจทก์ กับคืนค่าขึ้นศาลอนาคตในชั้นอุทธรณ์ 100 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share