คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6214/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องการครอบครองปรปักษ์การที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่1โดยการครอบครองตามกฎหมายจึงแตกต่างไปจากที่เคยให้การต่อสู้คดีไว้ไม่มีประเด็นและมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามฎีกา เมื่อข. ตายที่พิพาทของข. ย่อมเป็นมรดกตกทอดเป็นของทายาทซึ่งรวมทั้งโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่1อย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกันการที่ศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่1เป็นผู้จัดการมรดกตามที่ได้ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกที่พิพาทแสดงว่าจำเลยที่1ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกถือว่าจำเลยที่1ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทเหล่านั้นในการแบ่งปันมรดกการที่จำเลยที่1ไปรับโอนมรดกที่พิพาทแล้วโอนให้ตนเองในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่2จึงมิใช่การแบ่งปันมรดกตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยสุจริตเมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวจึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากผู้จัดการมรดกและจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1754วรรคหนึ่งมาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า นางขวัญ ศรีสกุลไทย มีบุตร8 คน คือ โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 นายฟู นายฟอน นายเฟือนนางเอี่ยมและนางสาวยวน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2512 นางขวัญตายและมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 141 โดยนางขวัญมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายเพี้ยนและนายจวงซึ่งได้ครอบครองกันเป็นส่วนสัด นางขวัญครอบครองทางทิศเหนือ เนื้อที่ประมาณ 9 ไร่24 ตารางวา ที่ดินเฉพาะส่วนของนางขวัญดังกล่าว จึงตกทอดแก่บุตรซึ่งเป็นทายาททั้ง 8 คน คนละ 1 ไร่ 53 ตารางวา บุตรทุกคนต่างร่วมกันและแทนกันครอบครองที่ดินมรดกตลอดมา จนกระทั่งปี 2532 จำเลยที่ 1ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยทายาทอื่นไม่ทราบ แล้วจำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของนางขวัญให้แก่ตนเองและจำเลยที่ 2 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2534 นางสาวยวนตายเนื่องจากนางสาวยวนไม่มีสามีและบุตร ที่ดินเฉพาะส่วนของนางสาวยวนจึงตกได้แก่โจทก์ทั้งสองและพี่น้องคนอื่น ๆ คนละ 645/7 ตารางวา โจทก์ทั้งสองจึงมีส่วนได้รับมรดกคนละ 1 ไร่ 1 งาน17 5/7 ตารางวา ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 141ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 แล้วจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนละ 1 ไร่ 1 งาน 17 5/7 ตารางวาและให้จำเลยทั้งสองส่งโฉนดที่ดินเลขที่ 141 แก่โจทก์ทั้งสองหากจำเลยทั้งสองไม่จัดการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า นางขวัญได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 141ส่วนของตนให้แก่นางสาวยวน นางสาวยวนได้ครอบครองที่ดินแปลงนี้อย่างเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวก่อนตายนางสาวยวนได้ให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการใส่ชื่อจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากเป็นการสะดวกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนางขวัญจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่จะแบ่งปันแก่ทายาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกเพราะฟ้องแบ่งมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่เจ้ามรดกตาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 141 เฉพาะส่วนของนางขวัญ ศรีสกุลไทย ลงวันที่30 ธันวาคม 2534 ที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เอง และโอนให้จำเลยที่ 2 แล้ว ให้จำเลยที่ 1จัดการให้โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดดังกล่าว คนละ1 ปี 8 ส่วนของที่ดินมรดกส่วนของนางขวัญ ศรีสกุลไทย กับอีกคนละ 1 ใน 7 ส่วนของที่ดินส่วนที่เป็นมรดกของนางสาวยวน ศรีสกุลไทยมิฉะนั้น ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางขวัญ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 8 คน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 141 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีเป็นกรรมสิทธิ์ของนางขวัญ นายเพี้ยนและนายจวงร่วมกันโดยต่างแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้ว เฉพาะส่วนของนางขวัญซึ่งเป็นที่พิพาทอยู่ทางทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ 24 ตารางวานางขวัญตายเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2512 ต่อมาปี 2532 จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางขวัญตามคำสั่งศาล จำเลยที่ 1รับโอนที่พิพาทมาในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัว และจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.2
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า แม้การให้ที่พิพาทระหว่างนางขวัญกับนางสาวยวนจะไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่นางขวัญได้ส่งมอบที่พิพาทให้นางสาวยวนครอบครอง และต่อมานางสาวยวนได้ยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกิน10 ปีแล้ว ที่พิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยการครอบครองตามกฎหมาย ที่พิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางขวัญนั้นเห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า นางขวัญยกที่พิพาทให้นางสาวยวน นางสาวยวนได้ครอบครองที่พิพาทอย่างเจ้าของแต่ผู้เดียวต่อมานางสาวยวนให้จำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาททำกินตลอดมาก่อนตายนางสาวยวนให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการใส่ชื่อจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องการครอบครองปรปักษ์ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงแตกต่างไปจากที่จำเลยทั้งสองเคยให้การต่อสู้คดีไว้ ไม่มีประเด็นและมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ เพราะโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่นางขวัญเจ้ามรดกตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของนางขวัญ เมื่อนางขวัญตาย ที่พิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดเป็นของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และบุตรทุกคนซึ่งเป็นทายาทอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกที่พิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางขวัญแสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดก ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทเหล่านั้นในการแบ่งปันมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 การที่จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกไปรับโอนที่พิพาทอันเป็นมรดกนางขวัญมาแล้วโอนที่พิพาทให้ตนเองในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 2 จึงมิใช่เป็นการแบ่งปันมรดกตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยสุจริต เมื่อโจทก์ทั้งสองมาฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 2และขอแบ่งทรัพย์ซึ่งโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากผู้จัดการมรดกและจากบุคคลอื่นผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับไม่ได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share