คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากรมาตรา118หาได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ดังนี้แม้มิได้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์มาแต่แรกในขณะทำสัญญาแต่เมื่อได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้วในวันนัดสืบพยานโจทก์หนังสือสัญญานั้นย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้การรับผิดเสียอากรเพิ่มตามมาตรา113และมาตรา114แห่งประมวลรัษฎากรหากจะมีเหตุดังที่จำเลยที่1และที่2อ้างในฎีกาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากกับการปิดอากรแสตมป์ตามปกติ บันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบันทึกต่ออายุสัญญาเอกสารหมายจ.11และจ.12มีข้อความว่าให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์อีก คำเบิกความของนางสาวป. ซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้เบิกความหลังจากโจทก์แถลงหมดพยานนั้นไม่เกี่ยวข้องกับคำพยานโจทก์ปากอื่นที่เบิกความไปแล้วการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์สืบก็เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเลยหาเสียเปรียบไม่และจำเลยยังมีโอกาสสืบแก้ศาลจึงรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา86วรรคสามและมาตรา114วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์ สาขาถนนศรีอยุธยา รวม 3 ฉบับ ในวงเงินกู้ 5,000,000บาท 10,000,000 บาท 15,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2525โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการชำระค่าไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ต่อการไฟฟ้านครหลวง จำนวนเงิน 2,250,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรไว้แก่โจทก์จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจำนองเครื่องจักรไว้แก่โจทก์และทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ไว้แก่โจทก์เนื่องจากโจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการชำระค่าไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหมดออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้องลายมือชื่อผู้กู้หรือผู้ยื่นคำขอต่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นลายมือชื่อปลอมจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ จึงไม่ต้องรับผิดและไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์ นอกจากนี้โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีจึงเป็นโมฆะ และคิดดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปีจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 จำนองเครื่องจักรเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่จำกัดวงเงินเพียง 6,000,000 บาทสัญญาค้ำประกันไม่มีผลบังคับเพราะไม่ได้ระบุว่าค้ำประกันตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับใด จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันในมูลหนี้ที่จำเลยที่ 2 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้า จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหนี้แก่โจทก์จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ19 ต่อปี เพราะเป็นหนี้ในเรื่องค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 36,025,584.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15.75 ต่อปี ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินรวม 930,341.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ร่วมกันชำระเงินค่าไฟฟ้าที่โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ 1 จำนวน1,284,987.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1และที่ 2 จำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบหากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนกว่าจะครบ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เฉพาะดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและดอกเบี้ยจากหนี้ค่าไฟฟ้าที่โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ 1นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ในวันทำสัญญาแต่ปิดอากรแสตมป์ในวันสืบพยานโจทก์นัดแรกซึ่งพ้นกำหนดเวลา 90 วัน นับแต่วันต้องปิดอากรแสตมป์ โดยไม่ได้เสียเงินเพิ่มถือว่าไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ บันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบันทึกต่ออายุสัญญาดังกล่าวเอกสารหมาย จ.11, จ.12 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 113, 114 และ 118 รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้นั้นประมวลรัษฎากร มาตรา 118 หาได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ ดังนี้ แม้มิได้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์มาแต่แรกในขณะทำสัญญาแต่เมื่อได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้วในวันนัดสืบพยานโจทก์ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้การรับผิดเสียอากรเพิ่มตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร หากจะมีเหตุดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างในฎีกาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากกับการปิดอากรแสตมป์ตามปกติส่วนเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ก็มีข้อความว่าให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์อีก
สำหรับฎีกาจำเลยทั้งสามที่ว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยนางสาวปัญจวรรณ พนักงานฝ่ายกฎหมายของโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจเป็นหนังสือ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์ และที่ศาลล่างทั้งสองอนุญาตให้โจทก์สืบพยานนางสาวปัญจวรรณเพิ่มเติมหลังจากแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าหมดพยานโดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นประโยชน์ต่อโจทก์ แต่เป็นโทษต่อจำเลยและเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 114 วรรคสองนั้น เห็นว่า ข้อที่ว่าโจทก์ไม่มีหนังสือมอบอำนาจให้นางสาวปัญจวรรณบอกกล่าวบังคับจำนอง จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้น เป็นฎีกาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนปัญหาที่ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางสาวปัญจวรรณเบิกความหลังจากโจทก์แถลงหมดพยานนั้น ปรากฎว่านางสาวปัญจวรรณเคยเป็นทนายโจทก์มาก่อนและมีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และบังคับจำนองจำเลยคำเบิกความของนางสาวปัญจวรรณจึงไม่เกี่ยวข้องกับคำพยานโจทก์ปากอื่นที่เบิกความไปแล้วการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์สืบนางสาวปัญจวรรณเพิ่มเติมเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเลยหาได้เสียเปรียบไม่ และจำเลยยังมีโอกาสสืบแก้ได้ ศาลจึงรับฟังคำเบิกความของนางสาวปัญจวรรณได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสาม และมาตรา 114 วรรคสอง ส่วนที่ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอนาคตเพราะเกินอายุความ 5 ปีนั้นเห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยทั้งสามไม่ได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
พิพากษายืน

Share