คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1945/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 กับส่วนของ พ.ออกขายทอดตลาด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อได้และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2เมื่อปรากฏว่าในขณะที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีกำลังประกาศขายทอดตลาดที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 และ พ. ตามคำสั่งศาล ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาได้ และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้คืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์โดยนำมาวางไว้ต่อศาลชั้นต้น เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนของการบังคับคดีที่กำหนดไว้ก่อนหลังตามคำพิพากษาจึงไม่ทำให้โจทก์เสียหายการที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 และ พ. จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลและจดทะเบียนการโอนที่ดินดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นทางให้เสียเปรียบแก่โจทก์โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยที่ 2ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่7053 นางทม เข็มทอง และนายเพีบร โพธิ์เนียม โดยส่วนของจำเลยที่ 1 มีเนื้อที่ 296 ตารางวา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์2523 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1ให้โจทก์ในราคา 355,200 บาท ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่28 มีนาคม 2523 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1ให้โจทก์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2532 ตามต่อมาวันที่ 30 เมษายน2533 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนให้โจทก์ และโจทก์อยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการไม่สุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7053 เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 296ตารางวา จากจำเลยที่ 2 คืนมาเป็นของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินตามฟ้องให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อขอให้นางทม เข็มทอง และนายเพียร โพธิ์เนียม ทำการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวแต่ตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ 1จึงได้ยื่นฟ้องนางทมและนายเพียรต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางทม ได้กรรมสิทธิ์ในส่วนเหนือสุดของที่ดินส่วนจำเลยที่ 1 กับนายเพียร หากตกลงกันไม่ได้ ให้นำที่ดินส่วนที่เหลือออกขายทอดตลาด แบ่งเงินกันตามส่วน โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์เมื่อโจทก์ชำระเงินค่าที่ดิน 352,200 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วหากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10804/2532 ของศาลชั้นต้น ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินแปลงดังกล่าวในส่วนของจำเลยที่ 1 และนายเพียรออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6142/2526 ของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ได้ และจำเลยที่ 1 ได้นำเงินมัดจำจำนวน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยไปวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อคืนแก่โจทก์ตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงไม่เสียหาย และการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยที่ 2 ก็เป็นการกระทำโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำพิพากษาทั้งจำเลยที่ 2ทราบเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หลังจากซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7053 เฉพาะส่วนของจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7053 เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1 โอนแก่จำเลยที่ 2เนื้อที่ 296 ตารางวา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับนางทม เข็มทอง และนายเพียร โพธิ์เนียม มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7053 ตำบลบางโพงพาง อำเภอยานนาวาโดยส่วนของจำเลยที่ 1 มีเนื้อที่ 296 ตารางวาเมื่อวันที่2 กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ในราคา 355,200 บาท ตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 28 มีนาคม 2523 แต่จำเลยที่ 1ไม่สามารถแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมมาโอนให้โจทก์ได้ เพราะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอีก 2 คนไม่ยินยอม จำเลยที่ 1 ฟ้องเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม 2 คน ขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อศาลชั้นต้นต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวตามคดีหมายเลขแดงที่ 5386/2530 ให้นำที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 และนายเพียรออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน ในระหว่างที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 และนายเพียรตามคำสั่งศาล โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ชำระเงินค่าที่ดิน 352,200 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยที่ 1คืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10804/2532 ของศาลชั้นต้นและคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 กับส่วนของนายเพียรออกขายทอดตลาด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อได้และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ได้หรือไม่เห็นว่า ในขณะที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10804/2532 ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีกำลังประกาศขายทอดตลาดที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 และนายเพียรตามคำสั่งศาล ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10804/2532ได้ และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้คืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์โดยนำมาวางไว้ต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนของการบังคับคดีที่กำหนดไว้ก่อนหลังตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้ว จึงไม่ทำให้โจทก์เสียหายการที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 และนายเพียรจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลและจดทะเบียนการโอนที่ดินดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นทางให้เสียเปรียบแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 1300 และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246, 247
พิพากษายืน

Share