คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองเพื่อขายจำหน่ายจ่ายแจก และถูกเจ้าพนักงานจับได้ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพพร้อมเฮโรอีนของกลาง ขณะที่กำลังจะเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นโดยเครื่องบิน โดยกำลังติดต่อตรวจสอบตั๋วเครื่องบินกับเจ้าหน้าที่สายการบินอยู่ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 พยายามนำเฮโรอีนของกลางดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรเพื่อขายจำหน่ายหรือจ่ายแจก และการกระทำของจำเลยที่ 1เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทเพราะเป็นเฮโรอีนจำนวนเดียวกัน
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2519 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง บังอาจร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวบังอาจร่วมกันมีเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งเป็นเกลือของเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษ จำนวน 340.50 กรัม ราคา 10,215 บาท ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายขายโดยมิได้รับอนุญาตและจำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันส่งออกนอกราชอาณาจักรไทย ซึ่งเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์จำนวนดังกล่าวไปเพื่อขาย จำหน่าย จ่ายแจกในประเทศญี่ปุ่นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกร่วมกันนำเอาเฮโรอีนดังกล่าวไปขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ เพื่อเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นแล้ว แต่เจ้าพนักงานที่ท่าอากาศยานกรุงเทพตรวจพบเสียก่อน และยึดไว้เป็นของกลาง จำเลยกับพวกจึงไม่สามารถนำเอาเฮโรอีนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรไทยไปได้สำเร็จสมดังเจตนาของจำเลย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2465 มาตรา 4 ทวิ, 14, 20, 20 ทวิ, 20 ตรี, 28, 29 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2479 มาตรา 11 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 5, 6, 7, 12 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83 ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่หลังจากสืบพยานจำเลยเสร็จแล้วจำเลยที่ 2 ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2465 มาตรา 4 ทวิ, 20, 29พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 5, 12ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 ให้จำคุกคนละ 16 ปี คำให้การจำเลยที่ 1เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78หนึ่งในสี่ คงจำคุก 12 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และคำร้องขอให้การรับสารภาพหลังสืบพยานเสร็จแล้วเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี 8 เดือนข้อหาอื่นให้ยก ของกลางริบ

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและเรียงกระทงลงโทษด้วย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2465 มาตรา 20 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504 มาตรา 6ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 12 ปี เฉพาะจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2465 มาตรา 20 วรรคท้าย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504 มาตรา 5ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 อีกกระทงหนึ่งด้วย ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 1 รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด46 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนและหลังสืบพยานเสร็จแล้วลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 8 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาร่วมพยายามนำเฮโรอีนออกไปนอกราชอาณาจักรตามฟ้องด้วย

จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาเชื่อว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองเพื่อขายจำหน่าย จ่ายแจก

วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ในการที่เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพพร้อมเฮโรอีนของกลาง ก็ปรากฏว่าเป็นวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กำลังจะเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นโดยเครื่องบินในขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังติดต่อตรวจสอบตั๋วเครื่องบินกับเจ้าหน้าที่สายการบินอยู่ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 พยายามนำเฮโรอีนของกลางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อขายจำหน่ายหรือจ่ายแจก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา

การที่จำเลยที่ 1 บังอาจมีเฮโรอีนของกลางไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและเฮโรอีนที่จำเลยที่ 1 พยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นเฮโรอีนของกลางจำนวนเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวซึ่งเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1170/2521 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายวิลเลี่ยม แมคคอย วอร์ด หรือ แมคซิโอวอร์ด กับพวก จำเลย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ส่วนฎีกาของโจทก์ปัญหามีว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำการในการนำเฮโรอีนของกลางออกนอกราชอาณาจักรกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ ตามคำเบิกความของพยานโจทก์คงจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมเฮโรอีนของกลางที่ท่าอากาศยานกรุงเทพในขณะที่กำลังจะนำไปประเทศญี่ปุ่นด้วยเครื่องบินเที่ยวเช้าในวันเกิดเหตุส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมไปกับจำเลยที่ 1 ด้วย คงพักอยู่ที่โรงแรมอัมรินทร์ ถึงแม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 2 จะเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นในวันเดียวกับจำเลยที่ 1เดินทางก็ตาม แต่เป็นคนละเที่ยวบินกันและแม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพตามฟ้องด้วยก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมพยายามนำเฮโรอีนของกลางออกไปนอกราชอาณาจักรตามฟ้อง

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2465 มาตรา 20 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504 มาตรา 6 และความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2465มาตรา 20 วรรคสี่ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2504 มาตรา 5 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 1คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 37 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share