คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1943/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี โดยความผิดที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกระทำนั้น เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายจำนวนมากถึง 64 คน เป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ต้องการหางานทำเพื่อหาเงินมาใช้เลี้ยงชีพ นับเป็นภัยต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างยิ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี และลงโทษปรับจำเลยที่ 4 โดยไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 1 นั้น นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ตามลำดับ และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ ๔
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ , ๓๔๓ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๒๘ มาตรา ๙๑ ตรี และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินหรือชดใช้เงินจำนวน ๔,๑๑๘,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง ๖๔ คน
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ หลบหนี ศาลชั้นต้นออกหมายจับและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๙๑ ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๑ , ๘๓ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๓ ปี ปรับจำเลยที่ ๔ จำนวน ๙๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๒ ปี ปรับจำเลยที่ ๔ จำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว แม้ผู้เสียหายทั้ง ๖๔ คน จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไปจากจำเลยทั้งสี่รวมเป็นเงิน ๑,๑๙๒,๗๐๐ บาท แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ ที่ร่วมกับพวกหลอกลวงประชาชนเป็นจำนวนมากอันเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ ส่วนจำเลยที่ ๔ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ สำหรับคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ คืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหายทั้ง ๖๔ คน รวมเป็นเงิน ๔,๑๑๘,๐๐๐ บาท นั้น ได้ความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่า ผู้เสียหายที่ ๒ ถึงที่ ๖๔ มีบางรายได้รับชดใช้ไปบางส่วนแล้ว จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินเท่าที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหายที่ ๒ ถึงที่ ๖๔ รวมเป็นเงิน ๒,๙๒๕,๓๐๐ บาท ด้วย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ฎีกาในทำนองว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้ชักชวนและเรียกค่าบริการจากผู้เสียหายทั้งหมด โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ มิได้ร่วมในการชักชวนเรียกรับเงินจากผู้เสียหาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ร่วมกระทำผิดในฐานะผู้ถือใบอนุญาตจัดหางาน และจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ มิได้หลบหนี แต่ได้พยายามบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยการหาเงินมาชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายทั้งหมดจนเป็นที่พอใจนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ จะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ เกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่ผู้เสียหายทั้งหมดได้รับ และจำนวนเงินที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ได้ชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายทั้งหมดว่ามีจำนวนไม่ตรงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัยก็ตาม แต่ก็มิได้มีคำขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๔ กำหนดให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายทั้งหมด จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ เพียงแต่ต้องการแสดงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการลงโทษของศาลฎีกาเท่านั้น คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ว่า กรณีมีเหตุสมควรลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ในสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยที่ ๑ หรือไม่ เห็นว่า ความผิดที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ร่วมกระทำนั้นเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายจำนวนมากถึง ๖๔ คน เป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ต้องการหางานทำเพื่อหาเงินมาใช้เลี้ยงชีพ นับเป็นภัยต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างยิ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ โดยไม่รอการลงโทษจำเลยที่ ๑ นั้น นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share