คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมให้ร่วมกันชำระหนี้ค่าบำเหน็จนายหน้าที่กระทำร่วมกันอันเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จะมีคู่ความเพียงบางฝ่ายเป็นผู้อุทธรณ์ก็ตามแต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่ได้เป็นนายหน้าและไม่มีค่าบำเหน็จต่อกัน และเห็นควรกลับคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีผลเป็นที่สุดระหว่างคู่ความอื่นที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยชี้ขาดให้มีผลถึงคู่ความบางฝ่ายในคดีในศาลชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ติดต่อกับโจทก์ทั้งสองให้เป็นนายหน้าและตัวแทนในการสั่งซื้อรถยนต์เบนซ์แบบ 280 เอสอี และแบบ 200 รวม2 คัน จากสาธารณรัฐเยอรมันตะวันตก โดยติดต่อสั่งซื้อผ่านบริษัทออโตลาวจำกัด ในประเทศลาว ในการนี้จำเลยทั้งสองตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่โจทก์คันละ 50,000 บาท โจทก์ได้จัดการให้จำเลยได้ซื้อรถตามความประสงค์และจำเลยได้รับรถยนต์ที่สั่งซื้อไปแล้ว แต่ยังติดค้างค่าบำเหน็จแก่โจทก์อยู่30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีถึงวันฟ้องเป็นเงิน2,662.50 บาท

จำเลยทั้งสองให้การว่า การสั่งซื้อรถยนต์ตามฟ้องเป็นเรื่องระหว่างบริษัทออโตลาว จำกัด กับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว โจทก์ทั้งสองไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องเคลือบคลุม จำเลยไม่เคยว่าจ้างหรือติดต่อให้โจทก์เป็นนายหน้าหรือตัวแทน

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าโจทก์เป็นผู้ติดต่อให้จำเลยทั้งสองซื้อรถยนต์ตามฟ้องโดยมีบำเหน็จ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน30,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราตามขอ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังว่า โจทก์ที่ 2 กระทำในฐานะตัวแทนบริษัทออโตลาว จำกัด โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับจำเลย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีข้อตกลงเป็นส่วนตัวกับจำเลยในการรับเป็นนายหน้าสั่งซื้อรถยนต์เบนซ์โดยมีค่าบำเหน็จดังโจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ส่วนฎีกาโจทก์ข้อที่ว่า จำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น คดีอันเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นอันยุติถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ถึงจำเลยที่ 2 ด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหาข้อนี้แล้ว เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วม ให้ร่วมกันชำระหนี้ค่าบำเหน็จนายหน้าที่กระทำร่วมกันอันเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จะมีคู่ความเพียงบางฝ่ายเป็นผู้อุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่ได้เป็นนายหน้าและไม่มีค่าบำเหน็จต่อกันและเห็นควรกลับคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีผลเป็นที่สุดระหว่างคู่ความอื่นที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยชี้ขาดให้มีผลถึงคู่ความทุกฝ่ายในคดีในศาลชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)

พิพากษายืน

Share