แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งอื่น เมื่อเหตุแห่งการเสียหายของสินค้ามิได้เกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมาย จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดในการเสียหายของสินค้าตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39
ตัวแทนคนใดจะต้องรับผิดตามสัญญาแต่ลำพังตนเองนั้น จะต้องเป็นกรณีตัวแทนนั้นทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 824 ของ ป.พ.พ. แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนสายการเดินเรือซึ่งต่างเป็นตัวการซึ่งอยู่ในต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศก็ตาม แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนตัวการดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 824
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 230,652.33 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 220,984.27 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การในทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 220,984.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 9,668.06 บาท ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งอื่น แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งเป็นผู้นำสินค้าเข้าบรรจุในตู้สินค้าและเคลื่อนย้ายสินค้ามาบรรทุกลงเรือของจำเลยที่ 1 และว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่งสินค้าจากท่าต้นทางที่ประเทศสิงคโปร์มายังท่าปลายทางที่ประเทศไทย เมื่อเรือมาถึงท่าปลายทางที่ประเทศไทยมีจำเลยที่ 3 หรือจำเลยที่ 4 ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือและเคลื่อนย้ายสินค้านำไปเก็บไว้ในโรงพักสินค้าของบริษัทไทยพรอสเพอริตี้ เทอมินอล จำกัด กรณีนี้ หากเหตุแห่งการเสียหายของสินค้ามิได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นก็ไม่ต้องรับผิดในการเสียหายของสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 44 ประกอบด้วยมาตรา 39 สำหรับในปัญหาที่ว่าเหตุแห่งการเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายคือในระหว่างการขนส่งสินค้าทางทะเลจากท่าเรือต้นทางที่ประเทศสิงคโปร์มายังท่าเรือปลายทางที่ประเทศไทยหรือไม่นั้นได้ความว่า เมื่อเรือมาถึงท่าปลายทางที่ประเทศไทยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยที่ 3 หรือจำเลยที่ 4 ได้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือและนำไปเก็บรักษาไว้ที่โรงพักสินค้าของบริษัทไทยพรอสเพอริตี้ เทอมินอล จำกัด ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม 2544 ได้มีการสำรวจสินค้าเบื้องต้นพบว่าสินค้าจำนวน 20 กล่อง ฉีกขาดอีก 14 กล่อง มีรอยเปรอะเปื้อนแห้ง ๆ และเมื่อได้ทำการสำรวจความเสียหายโดยละเอียดพบว่าสินค้าได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 22 กล่องเท่านั้น ตามถ้อยคำและคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าการเสียหายของสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงใด ในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายหรือไม่ เห็นว่า ขณะสินค้าอยู่ในเรือสินค้าบรรจุอยู่ในตู้สินค้าซึ่งมีสภาพเรียบร้อย หากมีน้ำซัดสาด ก็ไม่อาจถูกหีบห่อสินค้าได้โดยตรง ทั้งหีบห่อสินค้ายังมีพลาสติกห่อหุ้มอยู่ด้วย หากมีน้ำเข้าไปในตู้สินค้า ก็ไม่น่าถูกตัวสินค้า เนื่องจากมีพลาสติกห่อหุ้มอยู่ดังกล่าว และน้ำที่ซึมเข้าไปในตู้สินค้าก็ไม่น่าที่จะมีความแรงพอที่จะทำให้พลาสติกหรือหีบห่อสินค้าฉีกขาดได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าเหตุแห่งการเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายนั้นตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ในข้อนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยโดยวินิจฉัยว่า เนื่องจากจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของสายการเดินเรือ เจ้าของตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าต่างเป็นตัวแทนทำการแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ เห็นว่า ตัวแทนคนใดจะต้องรับผิดตามสัญญาแต่ลำพังตนเองนั้น จะต้องเป็นกรณีตัวแทนนั้นทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 824 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของสายการเดินเรือซึ่งต่างเป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศก็ตาม แต่ทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนตัวการดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติ มาตรา 824 ดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังขึ้นเช่นกัน และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 อีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความให้รวมคนละ 4,000 บาท