คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1933/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมมือกับจำเลยสำแดงราคาสินค้าเท็จ คือต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร ในการนำเข้าสินค้าต่อกรมศุลกากร ถือได้ว่าไม่สุจริตด้วยกัน โจทก์จึงไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องราคาสินค้าเต็มจำนวนตามที่ซื้อขายกันจริง ซึ่งมีจำนวนที่โจทก์ร่วมมือกับจำเลยเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรรวมอยู่ด้วยได้ จำเลยคงต้องรับผิดต่อโจทก์เท่ากับราคาที่สำแดงต่อกรมศุลกากรเพื่อเสียภาษีนำเข้าเท่านั้น
อัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์มิได้มีอัตราคงที่แน่นอน เมื่อครบกำหนดที่จำเลยต้องชำระเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ ตามที่โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยแล้ว จำเลยไม่ชำระให้ตามกำหนด จำเลยก็ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ตามที่ตกลงซื้อขายสินค้ากัน แต่หากจำเลยจะชำระเป็นเงินบาทแล้ว จำเลยก็ต้องชำระด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่ และเวลาที่ใช้เงิน ตาม มาตรา 196 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลย เพราะโจทก์ต้องได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เท่ากับที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์เสมอตามคำพิพากษา ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาว่า หากจำเลยจะชำระเป็นเงินบาทก็ให้ชำระตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่ และเวลาที่ใช้เงินนั้นชอบแล้ว
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ โจทก์ได้จัดส่งสินค้าให้จำเลยโดยวิธีขนส่งทางเรือและทางอากาศหลายครั้ง แต่จำเลยชำระราคาเพียงบางส่วน ผิดนัดไม่ชำระตามเวลาที่กำหนดขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๒๐๔,๖๓๙.๘๗ ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ ๓,๖๘๓,๕๑๗.๖๐ บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๙๕,๘๔๖.๐๒ ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ ๓,๕๒๕,๒๒๘.๓๐ บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยโจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทย ในอัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับ ๑๘ บาท
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ใบแจ้งหนี้เป็นเอกสารปลอม โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต และการที่โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับ ๑๘ บาท จำเลยไม่อาจทราบได้ว่า คิดอย่างไร จากมาตรฐานไหน เวลาใด ทำให้จำเลยเสียเปรียบหลงในข้อต่อสู้ไม่สามารถรู้ว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่เท่าใด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน ๑๓๑,๓๕๔.๙๖ ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ เงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่ และเวลาที่ใช้เงิน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๒๕,๒๙๓.๕๗ ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเดียวกัน นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกา แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิเคราะห์แล้ว _ _ _ปัญหาที่ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ซึ่งปัญหานี้ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เห็นว่า จำเลยได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ตามราคาที่แท้จริง ในใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.๖ ถึง จ.๑๓ รวมเป็นเงินค่าสินค้าทั้งสิ้น ๑๙๕,๘๔๖.๐๒ ดอลลาร์สิงคโปร์ จำเลยผู้ซื้อย่อมมีหน้าที่ชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์แต่เนื่องจากได้ความโดยแน่ชัดว่า โจทก์ได้ออกใบแจ้งหนี้ให้แก่จำเลยด้วยราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อขายกันจริง ตามเอกสารหมาย ล.๒ ถึง ล.๙ ซึ่งรวมเป็นเงิน ๑๔๖,๖๐๓.๙๔ ดอลลาร์สิงคโปร์ เหตุที่โจทก์ออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลยด้วยราคาสินค้าที่ต่ำกว่าราคาซื้อขายกันจริงนั้น เพื่อให้จำเลยนำใบแจ้งหนี้ดังกล่าวไปเสียภาษีนำเข้า พฤติการณ์ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์ได้ร่วมมือกับจำเลยสำแดงราคาสินค้าเท็จคือต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรในการนำเข้าสินค้าต่อกรมศุลกากร ทำให้เห็นว่าโจทก์จำเลยประกอบธุรกิจมีเจตนาเป็นการเอาเปรียบประเทศไทย ถือได้ว่าไม่สุจริตด้วยกัน โจทก์จึงไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องได้เต็มจำนวน ๑๙๕,๘๔๖.๐๒ ดอลลาร์สิงคโปร์ซึ่งมีจำนวนที่โจทก์ร่วมมือกับจำเลยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรร่วมอยู่ด้วยได้ จำเลยจึงควรรับผิดชำระค่าสินค้าให้โจทก์เฉพาะค่าสินค้าจำนวน ๑๔๖,๖๐๓.๙๔ ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นส่วนที่จำเลยนำไปเสียภาษีนำเข้าต่อกรมศุลกากรแล้ว ซึ่งเมื่อหักจำนวน ๒๑,๓๑๐.๓๗ ดอลลาร์สิงค์โปร์ที่จำเลยชำระแล้วออกจึงยังคงเหลือจำนวนที่จำเลยต้องชำระอีก ๑๒๕,๒๙๓.๕๗ ดอลลาร์สิงค์โปร์ พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินค่าสินค้าที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๓๑,๓๕๔.๙๖ ดอลลาร์สิงค์โปร์นั้นชอบแล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์มิได้มีอัตราคงที่แน่นอน แต่จะมากหรือน้อยลงแตกต่างกันในแต่ละวันย่อมขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อครบกำหนดที่จำเลยต้องชำระค่าสินค้าให้โจทก์ตามที่โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยแล้วจำเลยไม่ชำระให้ จำเลยก็ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สิงค์โปร์ตามที่ตกลงติดต่อซื้อขายสินค้ากัน แต่หากจำเลยจะชำระเป็นเงินบาทแล้ว จำเลยก็ต้องชำระด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่ และเวลาที่ใช้เงิน ตามบทบัญญัติ มาตรา ๑๙๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ จำเลยอาจได้ประโยชน์ หรือ เสียประโยชน์ในผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สิงคโปร์ในแต่ละวันได้ แต่ทั้งนี้จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลย เพราะโจทก์ต้องได้รับชำระหนี้ค่าสินค้า เป็นเงินดอลลาร์สิงค์โปร์ เท่ากับที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์เสมอตามคำพิพากษา
พิพากษายืน แต่ในส่วนที่ให้จำเลยชำระเป็นเงินไทย ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงินนั้น อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวต้องไม่เกิน ๑ ดอลลาร์สิงค์โปร์ ต่อ ๑๘ บาท ตามคำขอของโจทก์

นายนวรัตน์ กลิ่นรัตน์ ผู้ช่วยฯ
นายพรภัทร์ คำแฝง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายไมตรี ศรีอรุณ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share