แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคืนฟ้องฉบับแรกให้โจทก์ไปทำมาใหม่โดยให้เหตุผลว่า โจทก์เขียนคำฟ้องฟุ่มเฟือย อ่านไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นในการตรวจฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อโจทก์ทำฟ้องมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาลแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวหาใช่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้หรือเพิ่มเติมฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทำฟ้องมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาลเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 175 และ 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557 โจทก์ยื่นฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 และ 177 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์คำฟ้องแล้วโจทก์เขียนฟุ่มเฟือยเกินไป อ่านไม่เข้าใจ ให้คืนคำฟ้องไปทำมาใหม่ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะไม่รับคำฟ้อง โจทก์จึงนำฟ้องฉบับใหม่ลงวันที่ 9 เมษายน 2557 มายื่นต่อศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องและเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่าฟ้องของโจทก์ในข้อหาเบิกความเท็จไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ส่วนข้อหาฟ้องเท็จชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้วพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ยื่นฟ้อง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนฟ้องโจทก์ไปทำมาใหม่ ส่วนครั้งที่ 2 โจทก์ขอแก้ฟ้องด้วยวิธีการเปลี่ยนฟ้องฉบับใหม่เข้ามาแทนฟ้องฉบับเดิมแล้วศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องฉบับใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 ซึ่งทำให้จำเลยเสียเปรียบ คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ก่อนโจทก์นำฟ้องฉบับที่ 2 มายื่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคืนฟ้องฉบับแรกให้โจทก์ไปทำมาใหม่โดยให้เหตุผลว่า โจทก์เขียนคำฟ้องฟุ่มเฟือย อ่านไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นในการตรวจฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 เมื่อโจทก์ทำฟ้องมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาลแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวหาใช่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้หรือเพิ่มเติมฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 ดังที่จำเลยฎีกาไม่ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทำฟ้องมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาลเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ส่วนที่โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2557 ขออนุญาตแก้ฟ้องเป็นความเข้าใจของโจทก์เอง ประกอบกับศาลหาได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องตามที่โจทก์ขอไม่ คงสั่งแต่เพียงว่าให้นัดไต่สวนมูลฟ้อง คำสั่งศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ไม่ได้ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียชื่อเสียง เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมิได้วินิจฉัยความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จซึ่งเป็นความผิดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ระบุถ้อยคำไว้ในพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียชื่อเสียงนั้น เป็นการให้เหตุผลถึงการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยเท่านั้น หาใช่เป็นคำวินิจฉัยอันจะทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 175 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่า โทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษายืน