คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8823/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 152 ไม่มีองค์ประกอบของความผิดหรือมูลเหตุชักจูงใจว่า อันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกส้มเขียวหวานปลอดโรค “การจัดทำแปลงสาธิตระบบการให้น้ำเหนือผิวดิน” โดยดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการตั้งแต่เริ่มจนแล้วเสร็จ ไม่ปรากฏว่ามีขั้นตอนใดที่กระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือมีระเบียบห้ามไว้ ในขั้นตอนของการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และขั้นตอนการตรวจรับและการติดตั้งก็ไม่ปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกิดขึ้น แต่พื้นที่แปลงสาธิตเป็นของ ส. ภริยาของจำเลย แม้การจัดหาที่ดินแปลงสาธิตจะเป็นดังที่จำเลยอ้างว่าเกษตรอำเภอแม่วงก์เป็นผู้จัดหาที่ดินและเกษตรกรได้รับประโยชน์จากแปลงสาธิตก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตนได้ เพราะเกิดมีความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้มีตำแหน่งหน้าที่และมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด การนำที่ดินของ ส. มาดำเนินการโดยมีการนำวัสดุอุปกรณ์และกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคมาลงในที่ดิน ที่ดินของ ส. ย่อมได้รับประโยชน์อยู่ในตัวโดยปริยาย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโครงการดังกล่าว ถือว่าจำเลยเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับภริยาตนเนื่องด้วยกิจการนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 152

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 152, 157 และ 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยรับราชการในตำแหน่งเกษตรจังหวัด สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนได้รับหนังสือร้องเรียนกล่าวหาจำเลยว่าทุจริต ประพฤติมิชอบ ในโครงการส่งเสริมการปลูกส้มเขียวหวานปลอดโรค “การจัดทำแปลงสาธิตระบบการให้น้ำเหนือผิวดิน” โดยจำเลยของบประมาณจำนวน 1,700,000 บาท เพื่อให้ได้มาซึ่งวัสดุอุปกรณ์ระบบน้ำหยดราคา 1,412,000 บาท และกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคจำนวน 2,400 ต้น ราคา 258,000 บาท มาลงในที่ดินของนางสายใจ ภริยาจำเลย กรมส่งเสริมการเกษตรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเรื่องที่จำเลยถูกกล่าวหา คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีความเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นสมควรลงโทษไล่ออกจากราชการ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการนครสวรรค์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เพื่อพิจารณาเรียกเงินจำนวน 1,700,000 บาท คืนจากจำเลยให้แก่ทางราชการ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวมีความเห็นว่า ความเสียหายของทางราชการเกิดจากกระทำโดยจงใจของจำเลย จำเลยต้องรับผิดในผลแห่งความเสียหายของทางราชการเต็มจำนวน 1,700,000 บาท กรมส่งเสริมการเกษตรมีคำสั่งลงโทษไล่จำเลยออกจากราชการตามมติ อ.ก.พ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรมอบอำนาจให้นายบัณฑิตร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนส่วนปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการและปลอมเอกสารราชการ พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจึงส่งสำนวนการสืบสวนสอบสวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า การกระทำของจำเลยมีมูลความผิดทางอาญาตามมาตรา 151, 152 และ 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมูลความผิดทางวินัยตามมาตรา 82, 83, 85, 95 และ 98 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในความผิดฐานดังกล่าว อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องจำเลยในความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 152 และ 157 คำฟ้องข้อ 2.3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 คำฟ้องข้อ 21. ข้อ 2.2 และข้อ 2.4 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยจัดทำเอกสารโครงการส่งเสริมการปลูกส้มเขียวหวานปลอดโรค “การจัดทำแปลงสาธิตระบบการให้น้ำเหนือผิวดิน” อันเป็นเท็จ เพราะนายเกียรติกมล เกษตรอำเภอแม่วงก์ ไม่ได้เป็นผู้เสนอโครงการดังกล่าว ลายมือชื่อในเอกสารเสนอโครงการเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยจัดทำเอกสารโครงการเท็จขึ้นเพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยโดยตรงและเสนอของบประมาณไปยังกรมส่งเสริมการเกษตรเอง โดยไม่ให้นายสุรเชษฐ์ นักวิชาการเกษตรและนายสุพจน์ หัวหน้าฝ่ายแผนงาน ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทราบ ทั้งจำเลยใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตจัดทำประกาศการประกวดราคาจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นโครงการเท็จ อันเป็นการเสียหายแก่กรมส่งเสริมการเกษตร เห็นว่า โครงการนี้มีชื่อนายเกียรติกมลเป็นผู้เสนอโครงการและจำเลยเป็นผู้เห็นชอบโครงการ นายเกียรติกมลปฏิเสธว่าลายมือชื่อผู้เสนอโครงการไม่ใช่ลายมือชื่อของตน แต่โจทก์ก็มิได้ส่งลายมือชื่อในเอกสารเสนอโครงการไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ และเมื่อพิจารณาลายมือชื่อของนายเกียรติกมลในเอกสารดังกล่าวกับตัวอย่างลายมือชื่อของนายเกียรติกมลแล้วปรากฏว่ามีลักษณะหรือลีลาการเขียนคล้ายกันและข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบว่านายเกียรติกมลเคยถูกจำเลยทำเรื่องเสนอให้ย้ายออกจากพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยอ้างถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนายเกียรติกมลหลายประการ ทั้งนายเกียรติกมลเคยถูกบุคคลอื่นร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่งเกษตรอำเภอแม่วงก์ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่านายเกียรติกมลกับจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน นอกจากนี้จำเลยนำสืบด้วยว่านายเกียรติกมลทำหนังสือขอรับสารภาพผิดต่อจำเลยซึ่งเอกสารมีข้อความว่านายเกียรติกมลรับว่าเป็นผู้ทำหนังสือร้องเรียนจำเลย ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้คำเบิกความของนายเกียรติกมลมีน้ำหนักน้อยไม่น่าเชื่อถือ ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อเอง กรณีจึงเป็นที่เคลือบแคลงว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ และหากเป็นลายมือชื่อปลอมแล้วผู้ใดเป็นผู้ปลอมขึ้น เมื่อโจทก์นำสืบไม่ชัดแจ้ง จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยจัดทำเอกสารโครงการเป็นเท็จหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำเอกสารโครงการเท็จ การเสนอโครงการดังกล่าวย่อมเป็นไปตามขั้นตอนของทางราชการ โดยได้ความจากนายสุรเชษฐ์ นักวิชาการเกษตร ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า การเสนอโครงการสามารถทำจากระดับบนมาระดับล่างได้ คือจากระดับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเกษตรจังหวัดเองได้ ถ้าหากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเกษตรจังหวัดมองเห็นความจำเป็นของเกษตรกรในท้องที่ ก็สามารถเสนอของบประมาณไปที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ ที่นายสุรเชษฐ์เบิกความว่า การจัดแปลงสาธิตถือว่าเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับศูนย์เทคโนโลยีที่พยานรับผิดชอบ และนายสุพจน์เบิกความว่า การทำโครงการโดยปกติแล้วจะเสนอมาเป็นโครงการประจำปี โดยเสนอจากระดับล่างคือเกษตรตำบลขึ้นมาที่เกษตรอำเภอ แล้วจึงขึ้นมาที่เกษตรจังหวัด ในส่วนของเกษตรจังหวัดจะเสนอแผนมาที่ฝ่ายแผนงาน หลังจากนั้นจะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการจังหวัด แล้วจึงจะส่งเรื่องไปที่กรม พยานโจทก์ทั้งสองไม่ทราบเรื่องขณะเสนอโครงการดังกล่าว แต่เพิ่งมาทราบเรื่องภายหลังจากที่กรมได้อนุมัติโครงการแล้ว เห็นว่า ขั้นตอนการเสนอโครงการที่นายสุพจน์เบิกความหมายถึงโครงการประจำปีที่การเสนอแผนงานโครงการจากระดับล่างไประดับบน จึงต้องผ่านฝ่ายแผนงานก่อน แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นการทำจากระดับบนลงมาระดับล่าง ซึ่งนายสุรเชษฐ์เบิกความว่าสามารถทำได้เช่นกัน เมื่อกรมอนุมัติโครงการแล้ว นายสุรเชษฐ์เป็นผู้เขียนประทานเสนอไปที่จำเลย แล้วจำเลยเกษียนสั่งออกมา เป็นเอกสารขออนุมัติในหลักการประกวดราคาจากเกษตรจังหวัดไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ มีการลงลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่เสนอไปตามลำดับชั้นจนสุดท้ายเป็นการเกษียนสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ การประกวดราคาก็ดำเนินไปตามขั้นตอน ไม่มีการทุจริต เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่เปิดเผยเป็นไปตามขั้นตอนของทางราชการ มิใช่เป็นการปิดบังข้อเท็จจริงมิให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบตามที่โจทก์อ้างในฎีกาแต่อย่างใด ส่วนขั้นตอนในการทำสัญญาจัดซื้อและตรวจรับวัสดุอุปกรณ์ระบบน้ำสำหรับโครงการตามคำฟ้องข้อ 2.3 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แล้วว่าจำเลยไม่ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ในคำฟ้องข้อ 2.1 และข้อ 2.2 ส่วนความผิดตามคำฟ้องข้อ 2.4 นั้น โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 152 และ 157 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 151 ซึ่งโจทก์มีพยานยืนยันการกระทำความผิดของจำเลย คือนายบัณฑิต นายวีระ นายสิรวิศหรือตรัยมารถ และนายเกียรติกมลต่างเบิกความว่า มีการนำวัสดุอุปกรณ์ระบบน้ำหยดและกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานไปลงในพื้นที่ของนางสายใจ ภริยาจำเลยโดยนายสุชิน ซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุเป็นผู้นำไปมอบให้นายสนม และนายเลี่ยม ซึ่งเป็นลูกจ้างนางสายใจ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 151 เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 นั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตจัดให้มีการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ระบบน้ำและกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคลงในที่ดินของนางสายใจเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่จังหวัดนครสวรรค์ กรมส่งเสริมเกษตร และประชาชน จำเลยรับว่ามีการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ระบบน้ำและกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคลงในที่ดินของนางสายใจจริง การติดตั้งวัสดุอุปกรณ์เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการ โดยเจ้าของที่ดินทำหนังสือยินยอมให้ใช้ประโยชน์ แม้โจทก์มีนายเกษม เจ้าหน้าที่บริหารงานการเกษตร 6 มาเบิกความเป็นพยานว่า หนังสือยินยอมให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของนางสายใจลายมือชื่อที่ปรากฏในช่องพยานไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของตน แต่ก็ไม่ได้มีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ และขณะทำหนังสือให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน นายเกษมยังรับราชการอยู่ที่สำนักงานเกษตรอำเภอแม่วงก์ ไม่ได้ย้ายไปรับราชการที่อื่น ที่นายเกษมให้การต่อกรรมการสอบสวนทางวินัยว่าเพิ่งเห็น ในวันนั้นจึงไม่ตรงกับหลักฐานที่ปรากฏในเอกสาร พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีพิรุธ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่ามีการปลอมหนังสือยินยอมให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของนางสายใจ ดังนั้นการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ระบบการให้น้ำเหนือผิวดินและกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคลงในที่ดินของนางสายใจ โดยนางสายใจผู้เป็นเจ้าของที่ดินทำหนังสือยินยอมให้ใช้ประโยชน์ จึงเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า วัตถุประสงค์ของโครงการเป็นการสาธิตและให้บริการทางวิชาการแก่เกษตรกรให้เข้ามาศึกษาหาความรู้โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการจากเกษตรกรเป็นแบบให้เปล่าตลอดระยะเวลา 7 ปี ของอายุโครงการ จึงไม่อาจถือว่าจำเลยเข้ามีส่วนได้เสียในส่วนนี้เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือนางสายใจภริยาจำเลย หลังครบกำหนด 7 ปี แล้ว ทางราชการคืนที่ดินกลับให้นางสายใจ แต่นางสายใจยินดีให้ความร่วมมือกับทางราชการให้เป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรต่อไป จึงไม่มีข้อความตอนใดที่กำหนดให้ทางราชการต้องยกกรรมสิทธิ์ในวัสดุอุปกรณ์ระบบน้ำและพันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคให้แก่นางสายใจ โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยและนางสายใจได้รับประโยชน์หรือมีส่วนได้เสียจากกิจการดังกล่าวอย่างไร ในทางตรงข้ามจำเลยมีพยานหลายปากยืนยันตรงกันว่ากิจการที่จำเลยได้รับมอบหมายให้จัดทำจนแล้วเสร็จนั้นเป็นกิจการที่ตรงตามวัตถุประสงค์และหน้าที่ที่จำเลยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการดูแล เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ไม่มีองค์ประกอบของความผิดหรือมูลเหตุชักจูงใจว่าอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกส้มเขียวหวานปลอดโรค “การจัดทำแปลงสาธิตระบบการให้น้ำเหนือผิวดิน” โดยดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการตั้งแต่เริ่มจนแล้วเสร็จไม่ปรากฏว่ามีขั้นตอนใดที่กระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือมีระเบียบห้ามไว้ ในขั้นตอนของการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และขั้นตอนการตรวจรับและการติดตั้งก็ไม่ปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกิดขึ้นเช่นกัน เพียงแต่พื้นที่แปลงสาธิตเป็นของนางสายใจภริยาจำเลย ข้อเท็จจริงปรากฏต่อไปอีกว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากมีโครงการในคดีนี้แล้วยังมีอีกโครงหนึ่งที่ตำบลยางตาล อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ชื่อโครงการศูนย์ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร “การปรับปรุงระบบการให้น้ำชลประทานเหนือพื้นดิน” ซึ่งได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า พื้นที่แปลงสาธิตในโครงการที่ตำบลยางตาลเป็นของเอกชนรายหนึ่งที่ทำหนังสือให้ความยินยอมให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินเช่นเดียวกับนางสายใจ โครงการที่ตำบลยางตาลอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจำเลยโดยจำเลยเสนอให้ความเห็นชอบเช่นกันซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์และไม่มีปัญหาการทุจริตแต่อย่างใด แม้การจัดหาที่ดินแปลงสาธิตจะเป็นดังที่จำเลยอ้างว่าเกษตรอำเภอแม่วงก์เป็นผู้จัดหาที่ดินและเกษตรกรได้รับประโยชน์จากแปลงสาธิตก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตนได้ เพราะเกิดมีความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้มีตำแหน่งหน้าที่และมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด การนำที่ดินของนางสายใจมาดำเนินการโดยมีการนำวัสดุอุปกรณ์และกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคมาลงในที่ดิน ที่ดินของนางสายใจย่อมได้รับประโยชน์อยู่ในตัวโดยปริยาย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโครงการดังกล่าว ถือว่าจำเลยเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับภริยาตนเนื่องด้วยกิจการนั้น จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share