แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยหมิ่นประมาทใส่ความอธิบดีกรมอัยการ ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ม.282,116 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ม.282 และลงโทษปรับจำเลย จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่มีความผิดตาม ม.282 ฝ่ายโจทก์ไม่อุทธรณ์ ม.116 จึงถึงที่สุดเพียงศาลชั้นต้น ไม่มีประเด็นในชั้นอุทธรณ์ต่อไป ในชั้นอุทธรณ์คงมีประเด็นว่าจำเลยจะมีความผิดตาม ม.282 หรือไม่ มาตราเดียวเท่านั้น แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์สืบพยานตามที่แถลงไว้และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปตามกระบวนความและศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าให้ดำเนินการเกี่ยวแก่ ม.282 มาตราเดียวเท่านั้นเมื่อศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและระหว่างพิจารณาจำเลยได้ขออภัยต่อผู้เสียหาย ๆ ไม่ติดใจว่ากล่าวเอาความแก่จำเลย โจทก์จึงแถลงขอถอนฟ้องเฉพาะข้อหาในฐานหมิ่นประมาทใส่ความตาม ม.282 แต่โจทก์ย้อนหวนมาเอาความแก่จำเลยตาม ม.116 ซึ่งไม่มีประเด็นอีกนั้นไม่ได้เพราะประเด็นตาม ม.116 ได้ยุติในศาลชั้นต้นตั้งแต่ครั้งก่อนแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยหมิ่นประมาทใส่ความหลวงอรรถปรีชาชนูปการอธิบดีกรมอัยการ ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ม.๑๑๖,๒๘๒ พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ม.๔๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นเลยพิพากษาลงโทษปรับจำเลยตาม ก.ม.อาญา ม.๒๘๒ จำเลยฝ่ายดียวอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์สืบพยานตามที่แถลงไว้และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปตามกระบวนความ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระหว่างศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณานั้น จำเลยได้ขออภัยต่อหลวงอรรถปรีชาฯ ผู้เสียหาย ๆ ได้แถลงต่อศาลไม่ติดใจว่ากล่าวแก่จำเลย โจทก์จึงขอถอนฟ้องฐานหมิ่นประมาทตาม ก.ม.อาญา ม.๒๘๒ ศาลอนุญาต ส่วนข้อหาฐานหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานตาม ม.๑๑๖ โจทก์ขอให้ศาลพิจารณาต่อไป โจทก์จำเลยแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ก.ม.อาญา ม.๑๑๖ ให้ปรับจำเลย ๒๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ในข้อก.ม. ว่า ข้อความตามฟ้องที่ว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นถ้าเป็นผิดก็เป็นประเภทหมิ่นประมาทชนิดกล่าวร้ายใส่ความกันทำให้อาจเสียชื่อเสียงจัดอยู่ใน ม.๒๘๒ ส่วนความผิดต่อเจ้าพนักงานตาม ม.๑๑๖ เป็นเรื่องสบประมาทด่ากันซึ่งถ้าด่าคนธรรมดาไม่ใช่เจ้าพนักงานก็เป็นความผิดลหุโทษตาม ม.๓๓๙ ข้อ ๒ หรือข้อ ๓ ถ้อยคำที่ศาลชั้นต้นกล่าวอ้างไม่ปรากฎถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นการด่าหรือสบประมาทตาม ม.๑๑๖
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตาม ก.ม.อาญา ๒๑๑๖ นี้มีข้อความบัญญัติลงโทษผู้ที่หมิ่นประมาทต่อเจ้าพนักงานโดยไม่มีข้อจำกัด เฉพาะการหมิ่นประมาทโดยการกล่าวคำสบประมาท การกล่าวคำใส่ความที่มีข้อความทำให้เจ้าพนักงานถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็ย่อมมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทต่อเจ้าพนักงาน จึงเป็นผิดตาม ม.๑๑๖ ถ้อยคำที่จำเลยโฆษณาในคดีนี้มีลักษณะทำให้เจ้าพนักงานถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังได้ จึงเป็นการหมิ่นประมาทต่อเจ้าพนักงานตาม ม.๑๑๖ อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน
จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายต่อมา
ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยหมิ่นประมาทใส่ความหลวงอรรถปรีชาฯ อธิบดีกรมอัยการ ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.อาญา ม.๒๘๒,๑๑๖ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ม.๒๘๒ และลงโทษปรับจำเลย ๆ อุทธรณ์ว่าจำเลยมีความผิดตาม ม.๒๘๒ ฝ่ายโจทก์ไม่อุทธรณ์ ม.๑๑๖ จึงถึงที่สุดเพียงศาลชั้นต้น ไม่มีประเด็นในชั้นอุทธรณ์ต่อไป ในชั้นอุทธรณ์คงมีประเด็นว่าจำเลยจะมีความผิดตาม ม.๒๘๒ หรือไม่มาตราเดียวเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปตามกระบวนความ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าให้ดำเนินการพิจารณาเกี่ยวแก่ ม.๒๘๒ มาตราเดียวเท่านั้น และศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินการพิจารณาใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ระหว่างพิจารณาจำเลยได้ขออภัยต่อหลวงอรรถปรีชาฯ อธิบดีกรมอัยการผู้เสียหาย ๆ ไม่ติดใจว่ากล่าวเอาความแก่จำเลย โจทก์จึงแถลงขอถอนฟ้องจำเลยเฉพาะในข้อหาฐานหมิ่นประมาทใส่ความตาม ม.๒๘๒ แต่โจทก์ได้ย้อนหวนมาเอาความแก่จำเลยตาม ม.๑๑๖ ซึ่งไม่มีประเด็นอีก และศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาทับสัตย์ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยตาม ม.๑๑๖ ซึ่งศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะ ม.๑๑๖
ได้ยุติในศาลชั้นต้นตั้งแต่ครั้งก่อนแล้ว
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์.