คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1919/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าคันขอบลำรางกว้าง 2ศอกเป็นทางภาระจำยอมและทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ แสดงว่าจำเลยยอมให้โจทก์ใช้ทางนี้เดินได้และโจทก์สามารถเดินได้ตามปกติ ดังนั้น คันขอบลำรางตามที่คู่ความประนีประนอมยอมความกันจึงหมายถึงคันขอบลำรางซึ่งสามารถใช้เดินได้ตามปกติ มีขนาดกว้าง2 ศอก.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่าลำรางและคันขอบลำรางในที่ดินของจำเลยเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์จำเลยขนดินมาถมลำรางและปลูกต้นไม้ทั่วคันขอบลำรางเพื่อปิดกั้นมิให้โจทก์และบริวารใช้เข้าออก ขอให้จำเลยเปิดทางดังกล่าวคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาแล้ว ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นอธิบายความหมายของข้อความในสัญญาที่ว่า คันขอบลำรางซึ่งกว้าง 2 ศอก ศาลชั้นต้นอธิบายว่าน่าจะหมายถึงตอนที่ทำสัญญามีน้ำขึ้นมาสูงเท่าใดและวัดจากระยะผิวน้ำออกไปอีก 2 ศอก เพราะหากไม่ถือเช่นนี้จะทำให้สภาพของลำรางไม่แน่นอน กำหนดคันขอบลำรางไม่ได้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าคันขอบลำรางตามสัญญาดังกล่าวหมายถึงคันขอบลำรางซึ่งสามารถใช้เดินตามปกติได้มีขนาดกว้าง2 ศอก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีคงมีปัญหาแต่เพียงว่าคันขอบลำรางกว้าง2 ศอก ยาวตลอดแนวเขตที่ดินทางทิศเหนือของจำเลยซึ่งจำเลยยอมให้เป็นทางภาระจำยอมและทางจำเป็น ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 7 กันยายน 2526 และศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้แล้วนั้นอยู่ตรงไหนพิเคราะห์แล้ว สำหรับตัวลำรางนั้นคู่ความต่างไม่โต้เถียงคงมีแต่คำว่า ‘คันขอบ’ ของลำรางนั้นหมายความว่าอย่างไรและอยู่ตรงไหน ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2525 มีว่า ‘คัน’ที่เป็นคำนามหมายถึงแนวดินหรือแนวทรายเป็นต้น ที่พูนสูงขึ้นเป็นแนวยาว หรือแนวดินที่พูนขึ้นมาสำหรับกั้นน้ำส่วนคำว่าขอบ’ ที่เป็นคำนามหมายถึง ริมรอบริมที่ยกให้สูงขึ้นโดยรอบฉะนั้นคำว่า ‘คันขอบ’ ของลำรางที่พิพาท จึงน่าจะหมายถึงแนวดินอันเป็นส่วนสูงโดยรอบของลำรางนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องด้วยว่าคันขอบลำรางเป็นทางจำเป็นจำเลยก็ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ลงวันที่ 7 กันยายน 2526 ในข้อ 1 ยอมรับว่าคันขอบลำรางซึ่งกว้าง 2 ศอกเป็นทางจำเป็นด้วย คำว่า ทางจำเป็นนี้ย่อมหมายถึงว่าจำเลยยอมให้โจทก์ใช้เดินได้ และโจทก์สามารถเดินได้ตามปกติด้วยจึงจะสมประโยชน์ของคู่ความที่ตกลงประนีประนอมยอมความกัน ถ้าให้วัดจากระดับน้ำในลำรางขณะที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งนายสวิง ทรงวิเชียร กำนันแจ้งศาลว่ามีระดับใกล้เคียงกับในวันที่ศาลเดินเผชิญสืบออกไปอีก 2 ศอกตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว ก็ยังไม่แน่นอนในเรื่องทางเดินของโจทก์ว่าจะอยู่ตรงไหนและเดินได้เพียงใดหรือไม่ การที่จะเป็นทางจำเป็นต้องหมายถึงใช้เดินได้ตามปกติด้วย ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ชัดเจนว่าต้องเป็นคันขอบของลำรางซึ่งสามารถใช้เดินได้ตามปกติมีขนาดกว้าง 2 ศอกนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา’
พิพากษายืน.

Share