แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยรับจ้างบุคคลอื่นใส่ปุ๋ยต้นยางพาราที่ปลูกอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ครอบครองพื้นที่ดังกล่าวเพื่อผู้อื่นด้วย ถือไม่ได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองสวนยางพาราพื้นที่เกิดเหตุโดยยึดถือเอาไว้เพื่อผู้อื่น ตามความหมายของมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 หรือ มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
เมื่อศาลมิได้พิพากษาชี้ขาดว่าจำเลยกระทำความผิด กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 72 ตรี วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ มาตรา 31 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ที่จะสั่งให้จำเลย คนงานผู้รับจ้างผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุตามที่โจทก์ขอได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๕, ๕๔, ๕๕, ๗๒ ตรี, ๗๔ ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๙, ๑๔, ๓๑, ๓๕ ริบของกลาง และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง, ๗๒ ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็น กรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ลงโทษจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก ๑ ปี ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจาก เขตป่าสงวนที่เกิดเหตุ คืนของกลางให้เจ้าของ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยึดถือครอบครองสวนยางพาราที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติเพื่อผู้อื่นตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๘ หรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายวิชาญ ไชยถาวร และนายรังสรรค์ มหานิล พนักงานรักษาป่า สำนักงานสวนป่าอำเภอไชยาพยานโจทก์ได้ความเพียงว่า พยานทั้งสองได้ร่วมกันจับกุมจำเลยขณะที่จำเลยใส่ปุ๋ยต้นยางพาราในที่เกิดเหตุ โดยจำเลยถือมีดพร้า ๑ เล่ม ของกลาง ต้นยางพาราดังกล่าวมีอายุประมาณ ๓ ถึง ๔ เดือน แต่นายวิชาญเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่าต้นยางพาราที่ปลูกในที่เกิดเหตุเป็นของผู้ใด จำเลยให้การที่หน่วยป้องกันรักษาป่าอำเภอไชยาว่า รับจ้างใส่ปุ๋ยในที่เกิดเหตุ บันทึกการตรวจจับกุม จัดทำขึ้นที่หน่วยป้องกันรักษาป่าอำเภอไชยา ไม่มีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ และนายรังสรรค์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ร่องรอยการถางป่ามีมานานประมาณ ๓ ถึง ๔ เดือน พยานไม่ทราบว่าผู้ใดเข้าไปถางป่า ซึ่งร้อยตำรวจโทบุญฤทธิ์ เขียดแก้ว พนักงานสอบสวนก็เบิกความว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยได้ให้การว่ารับจ้างจากนายแดงใส่ปุ๋ยต้นยางพาราค่าจ้างต้นละ ๒ บาท มีทั้งหมด ๕๐๐ ต้น เพิ่งใส่ปุ๋ยได้ ๓๐๐ ต้น ตามบันทึกคำให้การ ดังนี้เห็นว่าจากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวข้อเท็จจริงยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่า หลังจากจำเลยรับจ้างใส่ปุ๋ยแล้วจำเลยได้ครอบครองพื้นที่เกิดเหตุแทนผู้ว่าจ้างด้วยหรือไม่ ทั้งตามที่นายวิชาญและ นายรังสรรค์เบิกความอ้างว่าขณะจับกุมจำเลยรับว่าบุกรุกแผ้วถางยึดถือครอบครองที่เกิดเหตุนั้น ก็ปรากฏว่าตามบันทึกการตรวจจับกุม กลับไม่มีข้อความดังกล่าวระบุไว้เลย และในชั้นสอบสวนกับชั้นพิจารณาจำเลยก็ให้การปฏิเสธมา โดยตลอด ประกอบกับทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยเข้าไปใส่ปุ๋ยหรือดูแลรักษาต้นยางพาราในสวนยางพาราที่เกิดเหตุก่อนหน้านี้หรือไม่และทำมานานเท่าใด อันจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้เข้าครอบครองพื้นที่เกิดเหตุไว้เพื่อ ผู้อื่น ดังนั้นจำเลยอาจจะรับจ้างใส่ปุ๋ย เมื่อใส่เสร็จแล้ว จำเลยก็หมดภาระหน้าที่โดยมิได้ครอบครองพื้นที่เกิดเหตุด้วย ก็เป็นได้ คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองสวนยางพาราที่เกิดเหตุเพื่อผู้อื่นตามความหมายของมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ หรือมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่งที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้สั่งให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจาก เขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุนั้น เห็นว่า คำขอส่วนนี้เป็นคำขอในวิธีการอุปกรณ์ของโทษตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๓๑ วรรคสาม และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗๒ ตรี วรรคสาม ซึ่งศาลจะมีคำสั่งได้เช่นนั้นต่อเมื่อศาลพิพากษาชี้ขาดว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว เมื่อศาลมิได้พิพากษาชี้ขาดว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งให้ตามที่โจทก์ขอได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง และให้ยกคำขอที่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจาก เขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุด้วย ส่วนมีดพร้าของกลางให้คืนแก่เจ้าของ