คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 3 พ.ศ.2501 มาตรา 3 บัญญัติว่า “อาวุธปืนหมายความรวมตลอดถึงอาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิดหรือกำลังดันของแกส หรืออัดลม หรือเครื่องกลไกอย่างใดซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงาน และส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนนั้น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฏกระทรวง” มิได้บัญญัติว่าอาวุธปืนจะต้องใช้ยิงได้หรือจะเป็นอาวุธปืนและแม้ส่วนหนึ่งส่วนใดที่รัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญ และได้ระบุไว้ในกฏกระทรวงก็ถือว่าเป็นอาวุธปืนด้วย ดังนั้น การที่จำเลยมีปืนพกสั้นออโตเมติก ชนิดประกอบขึ้นเองขนาด .22 ไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ แม้ปืนดังกล่าวไม่อาจใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ จำเลยก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 7 และปืนดังกล่าวเป็นอาวุธโดยสภาพ เมื่อจำเลยพาไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2520)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนพกสั้นออโตมติกชนิดประกอบขึ้นเองขนาด .๒๒ ไม่มีหมายเลขทะเบียนของนายทะเบียน ไม่อาจใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ จำนวน ๑ กระบอก และมีกระสุนปืนลูกกรดขนาด .๒๒ จำนวน ๗ นัด ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และจำเลยพกอาวุธปืนกับกระสุนปืนดังกล่าวไปในเมืองที่บริเวณศูนย์การค้าสยาม และในถนนพระราม ๑ ทางสาธารณะโดยมีเหตุอันสมควรขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ ; (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ปรับ ๒๐๐ บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ ๑๐๐ บาท ปืนที่โจทก์ฟ้องไม่มีสภาพเป็นอาวุธปืน ให้ยกฟ้องโจทก์ฐานมีอาวุธปืนและพกพาอาวุธปืน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๔ (๑) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๐๑ มาตรา ๓ บัญญัติว่า “อาวุธปืนหมายความรวมตลอดถึงอาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิดหรือกำลังดันของแกสหรืออัดลม หรือเครื่องกลไกอย่างใดซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงาน และส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฏกระทรวง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าตามตัวบทที่ยกมาดังกล่าวแล้ว มิได้บัญญัติว่าอาวุธปืนจะต้องใช้ยิงได้จึงจะเป็นอาวุธปืน และแม้ส่วนหนึ่งส่วนใดที่รัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฏกระทรวงก็ถือว่าเป็นอาวุธปืนด้วย การที่จำเลยมีอาวุธปืนตามฟ้องไว้ในความครอบครอง จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังที่โจทก์ฟ้อง
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยพาปืนของกลางตามฟ้องไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าปืนของกลางเป็นปืนพกสั้นออโตเมติก ชนิดประกอบขึ้นเอง ขนาด .๒๒ แม้ปืนดังกล่าวจะใช้ยิงไม่ได้แต่ก็เป็นอาวุธโดยสภาพ จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา ๓๗๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญาตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗,๗๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๓ ให้จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท กับมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ ให้ปรับ ๑๐๐ บาท รวมเป็นโทษจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๑,๑๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาล เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย ๓ เดือน ปรับ ๕๕๐ บาท โทษจำคุกเห็นว่าจำเลยมีอายุเพียง ๑๙ ปี กำลังเป็นนักเรียนจึงให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด ๒ ปี คงปรับอย่างเดียว หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ริบของกลาง

Share