แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่7 พฤศจิกายน 2539 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลแล้ว โดยกำหนดขายในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน ต่อมาในวันที่ 12พฤศจิกายน 2539 ผู้ร้องได้เสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนา คำร้องขัดทรัพย์ให้เจ้าพนักงานศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้ายแล้วเมื่อสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์อยู่ในอาคารเดียวกันกับศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีสำนักงานอยู่ ณ ที่ใด ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องไปร้องขอต่อเจ้าพนักงานศาลเพื่อให้ส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(1) อีก การที่ผู้ร้องได้เสียค่าธรรมเนียมในการส่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้ายในคดีนี้มีผลเท่ากับผู้ร้องได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งไม่ดำเนินการส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ทราบว่าศาลได้รับคำร้องดังกล่าวไว้แล้วและได้ดำเนิน การขายทอดตลาดไปตามกำหนดการขายทอดตลาดจึงไม่ชอบผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยอมผ่อนชำระหนี้ 433,987 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยผิดนัดชำระหนี้ศาลชั้นต้นจึงออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขอของโจทก์หลังจากนั้นโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านเลขที่ 177หมู่ 3 ตำบลช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้วประกาศกำหนดการขายทอดตลาดในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 เวลา 11 นาฬิกา
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องและให้ผู้ร้องนำส่งหมายเรียกและหมายนัดให้โจทก์ จำเลยและเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน ต่อมาในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 ภายหลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดไปตามกำหนดโดยมีผู้ซื้อทรัพย์พิพาทได้ในราคา 40,000 บาทแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิ่งได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องนำส่งหมายนัดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปรากฏว่าเพิ่งส่งหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีวันนี้ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดไปตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์ไปก่อนรับหมายและไม่ปรากฏว่าการขายทอดตลาดฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างไรจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 จึงไม่รับอุทธรณ์ ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าอุทธรณ์ของผู้ร้องมิใช่เนื้อหาของคดีร้องขัดทรัพย์ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ให้รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วโจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ผู้ร้องไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 เป็นเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ไปแล้ว การขายทอดตลาดจึงชอบแล้วศาลไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนเสียได้ ปรากฏว่าข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยโดยโจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 7พฤศจิกายน 2539 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รายงานให้ศาลชั้นต้นทราบตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2539 แล้วว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลแล้ว โดยกำหนดขายในวันที่14 พฤศจิกายน 2539 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วันต่อมาในวันที่ 12พฤศจิกายน 2539 ผู้ร้องได้เสียค่าธรรมเนียมในการนำส่งให้แก่เจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งสำเนาคำร้องแล้ว และสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่ในอาคารเดียวกันกับศาลชั้นต้น เห็นว่าผู้ร้องได้เสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้เจ้าพนักงานศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้ายแล้ว เมื่อปรากฏว่าสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์อยู่ในอาคารเดียวกันกับศาลชั้นต้น ตามพฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่าเจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีสำนักงานอยู่ ณ ที่ใด ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องไปร้องขอต่อเจ้าพนักงานศาล เพื่อให้ส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(1) อีก การที่ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้าย ในคดีนี้มีผลเท่ากับผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วเมื่อเจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่นำส่งไม่ดำเนินการส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ทราบว่าผู้ร้องได้ร้องขัดทรัพย์และศาลได้รับคำร้องดังกล่าวไว้แล้ว และได้ดำเนินการขายทอดตลาดไปตามกำหนด การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบ ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลล่างเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน