คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1897/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เหตุเกิดเวลาเช้า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่โล่งผู้เสียหายเป็นญาติจำเลยรู้จักกันมาเป็นเวลา 10 ปีเศษในระยะห่างกันเพียง 11 เมตร ผู้เสียหายย่อมจะเห็นและจดจำ จำเลยได้นอกจากนี้หลังจากนำตัวผู้ตายส่งโรงพยาบาลแล้ว ผู้เสียหายก็โทรศัพท์แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจในทันทีว่าจำเลยเป็นคนร้าย วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยและคงยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายตลอดมา ทั้งยังได้ความว่า ขณะนำตัวผู้ตายส่งโรงพยาบาลผู้ตายก็บอกผู้เสียหายว่า จำเลยเป็นคนยิง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคง รับฟังได้แน่ชัดปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนคำรับสารภาพ ในชั้นศาลของจำเลยจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา แต่อย่างใด นอกจากนี้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยก็มิได้ ให้การรับสารภาพเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้สำนึกผิด ในการกระทำ การที่จำเลยเพิ่งจะมาให้การรับสารภาพภายหลัง ในชั้นศาลแสดงให้เห็นว่าเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ประกอบกับ พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะร้ายแรงและโหดเหี้ยม กรณีจึง ไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 มาตรา 289(4),371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็เพราะจำนนต่อหลักฐาน ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาถึงไม่ลดโทษให้สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือนฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 3 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว คงลงโทษประหารชีวิต และให้ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า นายนันทา น้อยติ ผู้เสียหายเป็นอาเด็กชายชัยรัตน์ น้อยติ ผู้ตาย ส่วนจำเลยเป็นน้าผู้ตายก่อนเกิดเหตุคดีนี้บิดาจำเลยได้ฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกที่ผู้ตายได้รับจากบิดามารดาผู้ตาย คดีถึงที่สุดโดยผู้ตายเป็นฝ่ายชนะคดี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 เวลา 6.20 นาฬิกา ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์พาผู้ตายไปส่งที่ปากทางสวนส้มเชื่อมต่อกับถนนพระรามที่ 2 ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ผู้ตายลงจากรถจักรยานยนต์แล้วเดินข้ามถนนพระราม 2 ยืนรอรถไปโรงเรียนที่ไหล่ทาง จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์พวกของจำเลยแล่นผ่านผู้ตายไปประมาณ 10 เมตร แล้วจอดรถจักรยานยนต์ จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์เดินไปหาผู้ตายพร้อมทั้งซักอาวุธปืนจากเอว ผู้ตายเห็นจำเลยจึงวิ่งหนี จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่บริเวณหลัง 1 นัด จนผู้ตายล้มลงผู้เสียหายวิ่งข้ามถนนไปหาผู้ตาย เมื่อถึงบริเวณร่องแบ่งถนนพระรามที่ 2 ห่างจากจำเลยประมาณ 11 เมตร จำเลยหักลำกล้องปืนคัดปลอกกระสุนปืนออก จากนั้นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายซึ่งนอนคว่ำอยู่ที่ไหล่อีก 1 นัด แล้วจำเลยหันอาวุธปืนเล็งมาทางผู้เสียหาย พร้อมทั้งหันไปพยักหน้ากับพวกของจำเลยที่นั่งคร่อมรถจักรยานยนต์รออยู่ พวกของจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหาย แล้วจำเลยวิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ที่พวกของจำเลยจอดรออยู่ขับหลบหนีไปผู้เสียหายและนายแดง สำราญ กับพวก ช่วยกันนำผู้ตายส่งโรงพยาบาลขณะนำตัวผู้ตายขึ้นรถเพื่อส่งโรงพยาบาลผู้ตายได้พูดว่า”ไอ้เตี้ยมันยิง” จำเลยมีชื่อเล่นว่า “เตี้ย” ผู้ตายถูกยิงมีบาดแผลกระสุนปืนเข้าที่บริเวณกลางหลังชายโครงด้านซ้าย แขนซ้ายหัวไหล่ซ้ายและที่มือซ้ายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเนื่องจากเสียเลือดมากชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
พิเคราะห์แล้ว ในชั้นนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยแต่เพียงว่าสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นศาลเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นศาลเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาหาใช่ให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานนั้น โจทก์มีนายนันทา น้อยติ ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าเห็นหน้าจำเลยตอนที่จำเลยหักลำกล้องปืนคัดปลอกกระสุนปืนออกแล้วยิงผู้เสียหายซ้ำอีก 1 นัด ซึ่งขณะนั้นผู้เสียหายอยู่ห่างจากจำเลยประมาณ 11 เมตร เท่านั้น แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยจะสวมหมวกนิรภัยแต่ก็เป็นหมวกนิรภัยแบบครึ่งใบมีกระจกใสบังหน้าย่อมทำให้เห็นใบหน้าจำเลยได้ เห็นว่าเหตุเกิดเวลาเช้าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง ผู้เสียหายเป็นญาติจำเลยรู้จักกันมาเป็นเวลา 10 ปีเศษ ในระยะห่างกันดังกล่าวผู้เสียหายย่อมจะเห็นและจดจำจำเลยได้ นอกจากนี้หลังจากนำตัวผู้ตายส่งโรงพยาบาลแล้วผู้เสียหายก็โทรศัพท์แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจในทันทีว่าจำเลยเป็นคนร้าย วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยและคงยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายตลอดมา ทั้งยังได้ความว่าขณะนำตัวผู้ตายส่งโรงพยาบาล ผู้ตายก็บอกผู้เสียหายว่า จำเลยเป็นคนยิง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้แน่ชัดปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คำรับสารภาพในชั้นศาลของจำเลยจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยก็มิได้ให้การรับสารภาพเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้สำนึกผิดในการกระทำ การที่จำเลยเพิ่งจะมาให้การรับสารภาพภายหลังในชั้นศาลแสดงให้เห็นว่าเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานกรณีจึงไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะร้ายแรงและโหดเหี้ยม การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ลดโทษประหารชีวิตให้จำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาต้องกันว่าความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทและให้ลงโทษในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้นศาลฎีกาเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า เมื่อจำเลยยิงผู้ตายนัดที่สองแล้วผู้เสียหายได้วิ่งข้ามถนนจะเข้าไปช่วยผู้ตาย จำเลยได้หันอาวุธปืนจ้องมาที่ผู้เสียหายแล้วพยักหน้าให้พวกของจำเลยซึ่งนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์รออยู่ยิงผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่านั้น เห็นได้ว่าการยิงผู้ตายของจำเลยกับการพยักหน้าให้พวกของจำเลยยิงผู้เสียหายขณะผู้เสียหายจะเข้าไปช่วยผู้ตายนั้นแม้จะเป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกันแต่ความประสงค์และจุดมุ่งหมายของจำเลยสามารถแยกออกจากกันได้ว่าการยิงแต่ละครั้งจำเลยกับพวกมีเจตนายิงผู้ใด เจตนาฆ่าผู้ตายและเจตนาฆ่าผู้เสียหายจึงแยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยแต่เป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกันแต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายอีกกระทงหนึ่งได้เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225แต่ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษให้ถูกต้องโดยไม่แก้โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4), 83 กระทงหนึ่ง และมาตรา 288, 80, 83อีกกระทงหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share